Daily Pickup

9 หมุดหมายสำคัญ ฉลอง Pride Month ทั่วเอเชีย

เดือนแห่งความภาคภูมิใจ และความหลากหลายยังไม่จบลง EQ ก็เลยรวบรวมหมุดหมายสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ LGBTQ+ ในประเทศเอเชียมาให้ทุกคนได้ดูกันว่า คอมมูนิตี้แห่งความหลากหลายในปี 2023 เขาก้าวไปถึงจุดไหนกันแล้วบ้าง เพื่อที่เราจะได้มาร่วมฉลองให้กับความสำเร็จในครั้งนี้ไปด้วยกัน

Photo Credit: CNN

เตรียมเป็นคุณพ่อ คุณแม่! เมื่อคู่รักเพศเดียวกันสามารถ ‘ขอรับบุตรบุญธรรม’ ได้แล้วที่ไต้หวัน

ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่จัดอีเวนต์ไพรด์ได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียทั้งที ไต้หวันก็คงไม่หยุดพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศแน่นอน เพราะล่าสุดประเทศไต้หวันเตรียมประกาศใช้กฎหมายที่จะเพิ่มสิทธิให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถขอรับบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากที่เคยออกกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันไปแล้วก่อนหน้านี้ (แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องใช้เวลาถึง 4 ปีในการต่อสู้เพื่อสิทธิ์เรื่องบุตรบุญธรรมนี้มา)

โดยเนื้อหาในกฎหมายนี้ระบุเอาไว้ว่า คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันมีสิทธิ์รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ ภายใต้ข้อกำหนดว่า เด็กคนนั้นจะต้อง ‘ไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดกับคู่ชีวิตทั้งสองคน’ ซึ่งสิ่งนี้เคยเป็นปัญหาสำคัญของ LGBTQ+ ที่อยากรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมาย

Photo Credit: The Asahi Shimbun

‘ไม่ต้องแปลงเพศ ก็เปลี่ยนเพศในบัตรประชาชนได้’ อีกชัยชนะของ Transgender ฮ่องกง

ย้อนกลับไปในปี 2019 ชายข้ามเพศ 2 คน ถูกสำนักทะเบียนราษฎร์ฮ่องกงปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสัญลักษณ์ระบุเพศบนเอกสารสำคัญต่างๆ ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ต ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘พวกเขายังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ’

ผ่านมา 4 ปี การต่อสู้ของพวกเขาก็เกิดผล เนื่องจาก ‘แอนดรูว์ เช็ง’ (Andrew Cheung) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์พบว่า กฎหมายที่คนข้ามเพศจะต้องแปลงเพศก่อน จึงจะสามารถเปลี่ยนเพศในเอกสารสำคัญได้นั้น ‘ละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน และความสมบูรณ์ของร่างกาย’ ของทรานส์ฯ ทั้งที่สิทธิเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองจากการรับรองสิทธิต่างๆ อย่างถูกต้อง ทำให้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2023 ทรานส์ฯ ในฮ่องกงได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนเพศบนเอกสารสำคัญต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศอีกต่อไปแล้ว

Photo Credit: Vietnam+

อีกก้าวที่ดีกว่าของทรานส์ฯ ในเวียดนาม กับ ‘ร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพบุคคลข้ามเพศ’

ขยับเข้ามาใกล้ขึ้นอีกหน่อยกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ ASEAN อย่างเวียดนาม ที่เริ่มมีพื้นที่ให้กับความเท่าเทียมมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อในวันที่ 10 เมษายน 2023 ส.ส. ‘เหงียนอันห์ตรี’ ได้เสนอต่อคณะกรรมการประจําสภาแห่งชาติ เพื่อให้มีการบัญญัติกฎหมายใหม่ ที่จะทำให้ทรานส์ฯ หรือคนข้ามเพศ สามารถเปลี่ยนเพศตามกฎหมายได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ระบุว่า ‘จะต้องผ่านการผ่าตัดแปลงเพศก่อน จึงจะได้รับการรับรองเพศสภาพ’

ซึ่งจริงๆ แล้ว ‘กฎหมายการรับรองเพศสภาพ’ เคยถูกเสนอแล้วครั้งหนึ่งในปี 2015 แต่ทางรัฐบาลเวียดนามก็ยังคงพิจารณาอยู่ และไม่ได้บังคับใช้สักที (จนระยะเวลาพ้นผ่านมาราว 8 ปีแล้ว) ทั้งที่ในปีเดียวกันนั้น ประเทศเวียดนามก็มีการเปิดกว้างให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้ แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้กฎหมายรับรองเพศสภาพฉบับปี 2015 ค้างอยู่ในสภามานานหลายปีอย่างที่เราเห็น ก็อาจจะเป็นเพราะ การรับรองการสมรสตามกฎหมายยังไม่เกิดขึ้นในเวียดนาม ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลให้ที่ทำให้คนข้ามเพศไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แถมยังเสี่ยงต่อการถูกกีดกัน และถูกเลือกปฏิบัติ

FYI: ในปี 2015 การผ่าตัดแปลงเพศยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในเวียดนาม และเพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำการผ่าตัดแปลงเพศได้เมื่อปี 2020

Photo Credit: Tatler Asia

ฟิลิปปินส์ กับการผ่านร่างกฎหมายแห่งความตระหนักรู้ และความเท่าเทียม ‘SOGIESC’ 

อีกหนึ่งประเทศ ASEAN ที่มีความคืบหน้าเรื่องความเท่าเทียมในปีที่ผ่านมาก็คือ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากในวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ ได้รับรองร่างกฎหมาย ‘SOGIESC’ (กฎหมายรสนิยมทางเพศ, อัตลักษณ์ทางเพศ, การแสดงออกทางเพศ และลักษณะทางเพศ) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศ’ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญาหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการเลือกปฏิบัติทางเพศ ซึ่งการรับรองกฎหมายนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีมาอย่างยาวนานในฟิลิปปินส์ ให้พอได้มีความหวังว่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

Photo Credit: The Japan Times

ศาลญี่ปุ่นตัดสิน ‘สมรสเพศเดียวกัน ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ ก้าวใหม่ของความเท่าเทียมในแดนอาทิตย์อุทัย

คู่รักเพศเดียวกันในแดนปลาดิบ ก้าวเข้าใกล้ความเท่าเทียมขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นในจังหวัดนาโกยา มีคำพิพากษาในวันที่ 30 พฤษภาคม ว่า การไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสนั้น เข้าข่าย ‘ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวย่างสำคัญของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว 

คำพิพากษานี้ของศาลนาโกยานับเป็นครั้งที่ 2 จากการพิพากษา 4 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ตัดสินให้การห้ามคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ถึงอย่างนั้น ในรัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงระบุว่า การสมรสคือ ‘การแต่งงานระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น’

FYI: เทศบาลกว่า 300 แห่งในญี่ปุ่น เริ่มมีการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถทำ ‘ข้อตกลงคู่ชีวิต’ ได้แล้ว (แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดมากมายอยู่ เช่น สิทธิ์ในการรับมรดก สิทธิ์ในการรับรองบุตร หรือแม้แต่สิทธิ์ในการเข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้รับการันตี)

Photo Credit: The Korea Herald

คู่รักเพศเดียวกันในเกาหลีใต้ได้รับรอง ‘สิทธิความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ แล้ว 

คู่รักเพศเดียวกันในเกาหลีใต้เตรียมฉลองให้กับอีกก้าวของความเท่าเทียม เมื่อศาลสูงแห่งกรุงโซลได้ตัดสินให้คู่สมรสเพศเดียวกันอย่าง ‘โช ซอง-วุค’ และ ‘คิม ยอง-มิน’ ชนะคดีที่ฟ้องร้อง ‘บริษัทหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ (NHIS) ในปี 2021 เนื่องจาก NHIS ปฏิเสธการคุ้มครองแผนประกันของ คิม ยอง-มิน หลังจากพบว่าเขาเป็น LGBTQ+ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ทั้งคู่เคยได้รับความคุ้มครองมาก่อนแล้ว โดยที่ NHIS ให้เหตุผลไว้ว่า ‘เป็นความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ที่ไปให้ความคุ้มครองแก่คู่รักเพศเดียวกัน’

แม้ว่าคู่รักเพศเดียวกันในเกาหลีใต้จะสามารถจัดงานแต่งงานกันได้ แต่ก็ยังไม่สามารถรับรองตามกฎหมายได้อยู่ดี ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ทำให้คู่รักเพศเดียวกันถูกกีดกันจากสวัสดิการของรัฐหลายๆ อย่าง การชนะคดีของคู่รักคู่นี้อาจเป็นแสงแห่งความหวังของ LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ต่อไป

Photo Credit: Dhaka Tribune / Erasing 76Crimes

‘ฮิจรา’ กับการมีตัวตนของทรานส์ฯ ในสื่อการเรียนการสอนที่บังกลาเทศ

ถ้าพูดกันจริงๆ ‘ฮิจรา’ หรือผู้หญิงข้ามเพศในกลุ่มอนุทวีปอินเดีย ถูกมองว่าเป็น ‘เพศที่ 3’ ในสังคมบังกลาเทศมานานนับ 10 ปีแล้ว แต่แน่นอนว่า พวกเธอก็ยังคงถูกผลักให้เป็นคนชายขอบอยู่ดี เนื่องจากพฤติกรรมรักร่วมเพศยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศอยู่ ทำให้พวกเธอขาดโอกาสทั้งด้านอาชีพ การศึกษา และการเงิน

จนกระทั่งต้นปีที่ผ่านมา ฮิจราเริ่มถูกนำเสนอในสังคมด้วยภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น นั่นก็คือ การถูกนำเสนอในแบบเรียนของเด็กวัย 11 และ 13 ปี เพื่อเป็นการเรียนรู้เรื่อง ‘คนข้ามเพศ’ โดยในแบบเรียนจะมีทั้งภาพของเหล่าสตรีข้ามเพศในบทบาท และอาชีพที่มีความน่าเชื่อถือทางสังคม รวมทั้งยังมีเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาของเด็กคนหนึ่งที่ตัดสินใจข้ามเพศ และเข้าไปอยู่ในคอมมูนิตี้ของ Transgender ซึ่งแบบเรียนนี้เกิดขึ้นภายใต้ความหวังว่า สังคมจะเปิดรับ และเลิกผลักไสเหล่าคนข้ามเพศให้กลายเป็น ‘คนอื่น’ และใช้ชีวิตอย่างคนชายขอบ

Photo Credit: The Hindu

‘รักร่วมเพศ ≠ อาชญากรรม’ เมื่อศรีลังกาไฟเขียว ร่างกฎหมายลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการรักร่วมเพศ

ศาลสูงศรีลังกาไฟเขียว ร่างกฎหมายที่ลดทอนความเป็น ‘อาชญากรรม’ ของการรักร่วมเพศ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์ด้านความเท่าเทียมของประเทศ หลังจากที่เหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ+ ในศรีลังกาพยายามเรียกร้องมานานหลายปี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศ ที่คู่รักเพศเดียวกันยังคงถูกตัดสินว่ามีความผิด และลงโทษด้วยการจำคุก หรือปรับเงิน เช่นเดียวกับนักโทษคดีอาชญากรรม จึงเป็นสาเหตุให้ร่างกฎหมายที่พูดถึงนี้ ถูกเสนอเข้ารัฐสภาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การที่ศาลฎีกาได้รับคำร้องจำนวนมากจากทั้งสองฝั่งความคิดเห็น ทำให้ศาลตัดสินว่า กฎหมายข้างต้น ‘ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ แต่ถึงอย่างนั้นเหล่านักเคลื่อนไหวก็ยังต้องการเสียงจากสมาชิกรัฐสภาถึง 225 เสียง เพื่อที่จะผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี

Photo Credit: BBC

ถึงเวลาของอินเดีย เมื่อศาลฎีการับพิจารณา ‘การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน’

อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เรายังเห็นการกีดกัน ผลักไส และไม่ยอมรับ LGBTQ+ อยู่ แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน เราเริ่มได้เห็นมูฟเมนต์ที่ขยายขอบเขตของความหลากหลายจุดประกายขึ้นในสังคมอินเดีย เมื่อศาลฎีการับพิจารณาคำร้องแก้ไขกฎหมายเพื่อการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นการรับพิจารณาก็ยืดเยื้อไปกว่า 10 วัน ซึ่งในท้ายที่สุด คำตัดสินก็ยังคงถูกสงวนไว้ และคาดการณ์ว่าจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งหลังจากวันหยุดยาวช่วงฤดูร้อนสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ดังนั้น ก็ยังคงต้องคอยติดตามต่อไปว่า เราจะได้เห็นคู่สมรสเพศเดียวกันในสังคมอินเดียเมื่อไร 

ทั้งหมดนี้คือ ความคืบหน้าของความเท่าเทียมทางเพศในประเทศแถบเอเชียที่เราหยิบยกขึ้นมาเล่าให้ฟัง ทุกความสำเร็จที่เราเห็นล้วนมีคนที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งคนที่ต้องเผชิญปัญหา และการกดทับ หรือแม้แต่เหล่า Ally ที่เป็นกำลังซัพพอร์ตคอมมูนิตี้ ซึ่งประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้งก็ต้องจับตามองเหมือนกันว่า มูฟเมนต์ของความเท่าเทียมทางเพศจะเกิดขึ้นอย่างไร และจะพัฒนาไปในทิศทางใดบ้าง

อ้างอิง

CNN Philippines
MGR Online
Dailynews
Prachathai
ThaiPBS
The Matter
Indian Express
Reuters
CNN