Culture

เมื่อความคิดถึง ไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด ‘Toxic Nostalgia’ ครั้งหนึ่งที่ความคิดถึงเคยเป็นโรคร้ายในหน้าประวัติศาสตร์

การหวนนึกถึงอดีต เป็นเหมือนความรู้สึกอันแสนอบอุ่นจากอ้อมกอดของความทรงจำ ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็น Nostalgia พาเรื่องราวจากวันวาน กลับมาสะท้อนผ่านเทรนด์ต่างๆ รอบตัวเรา ทั้งแฟชั่น, เสียงเพลง ไปจนถึงแก็ดเจ็ตต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนชวนให้เราทบทวนความทรงจำ และหลีกหนีไปจากความวุ่นวายในปัจจุบัน ไปอยู่กับช่วงเวลาที่แสนสดชื่น และยุ่งเหยิงน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่สักหน่อย แต่ภายใต้หน้ากากที่แสนอบอุ่นของ Nostalgia ยังมีมุมมืดซ่อนอยู่ เมื่อความคิดถึงเป็นพิษร้าย ที่คอยขัดขวางความก้าวหน้าทางสังคม ตัดขาดบางคนออกจากปัจจุบัน และจมดิ่งอยู่ในวังวนของอดีตอยู่ซ้ำไปซ้ำมา EQ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Toxic Nostalgia’ เพื่อให้เราสามารถเดินย้อนไปบนเส้นทางของความทรงจำได้อย่างมีสติ

Photo Credit: Society19

ว่าด้วยเรื่องของ ‘ความคิดถึง’

‘ความรู้สึกยินดี และความเศร้าเล็กๆ เมื่อได้คิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต’ คือความหมายของ Nostalgia จาก Cambridge Dictionary ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในการหวนนึกถึงอดีต มักจะมีความเศร้าปนอยู่ด้วยเสมอ

เคยมีคำอธิบายถึง Nostalgia เอาไว้ว่า เราสามารถรู้สึกผูกพันกับ ผู้คน, สิ่งของ, สถานที่ หรือแม้แต่ตัวเราในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่เราเคยเป็น ซึ่ง Nostalgia ไม่เหมือนกับ ‘อาการ Homesick’ แล้วก็ไม่ใช่ ‘ความเพ้อฝัน’ เพราะเรายังรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่เราหวนคิดถึงบางอย่าง เพียงแต่เรายอมปล่อยใจให้ลอยไปตามความคิดถึง และเลือกที่จะมองเห็นเพียงแค่ข้อดีของมัน

Bettina Zengal นักจิตวิทยา, ผู้เชี่ยวชาญด้าน Nostalgia และศาสตราจารย์จาก University of Essex ระบุว่า Nostalgia มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ Collective Nostalgia คือ การนึกถึงอดีต ผ่านประสบการณ์ร่วมของคนกลุ่มใหญ่ เช่น คนที่เคยประสบเหตุการณ์รุนแรงร่วมกัน เป็นต้น อีกหนึ่งประเภท คือ Personal Nostalgia หรือ การโหยหาอดีตส่วนตัวนั่นเอง

Photo Credit: Natasha Adamo

ในขณะที่ Krystine Batcho นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้าน Nostalgia จาก Le Moyne College อธิบายเอาไว้ว่า การหวนนึกถึงอดีตมากจนเกินไป สามารถดึงความสนใจของเราออกจากปัจจุบัน และก่อให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า เนื่องจากความสนใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ และการเติบโตของบุคคลถูกยับยั้งลงไป

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Frontiers in Psychology ฉบับเดือนพฤษภาคม 2020 พูดถึง ‘การโหยหาอดีตที่คาดหวัง’ (Anticipatory Nostalgia) เอาไว้ว่าเป็น ‘ความรู้สึกขาดบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันไปก่อนวัยอันควร’ รวมถึง ‘ความสูญเสียในอนาคต’ ซึ่ง Nostalgia สามารถทำให้เกิดความโศกเศร้าเมื่อโหยหาอดีต และหัวเสียเมื่ออดีตที่คาดหวังไว้ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว

Photo Credit: NBC News

เมื่อความคิดถึงเป็นพิษ

ภาพจำของอดีตในอุดมคติ (สิ่งอาจไม่เคยเกิดขึ้นเลย) มักเป็นต้นเหตุของการหมกมุ่นอยู่กับอดีต จมอยู่กับภาพฝัน และความคาดหวัง จนส่งผลเสียต่อตัวบุคคลนั้นๆ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Toxic Nostalgia’

ซึ่งการหวนนึกถึงอดีตที่เป็นพิษแบบนี้ เป็นสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพจิตของเรามาก เนื่องจากมันทำให้เราไม่ ‘มูฟออน’ จากอดีต สั่งสมเป็นความผิดหวัง และความไม่พึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ชนิดที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ดูผิดพลาดไปเสียหมด ไม่มีอะไรได้อย่างที่ตั้งใจไว้ จนต้องวนอยู่กับความคิดที่ว่า ‘ทำไมเราถึงกลับไปเป็นอย่างในวันก่อนๆ ไม่ได้’

อย่างที่บอกไปว่า Toxic Nostalgia นำไปสู่ความโหยหาอดีต ‘ที่เราไม่เคยมี’ รวมถึงการไม่ยอมรับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย เนื่องจากความทรงจำของคนเราล้วนบิดเบี้ยวไปตามกาลเวลา ซึ่ง Toxic Nostalgia เป็นได้หลากหลายรูปแบบทั้ง การปฏิเสธเรื่องลบๆ ในอดีต, การเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันอย่างไม่จบสิ้น, ยึดมั่นถือมั่นกับความเชื่อล้าหลัง, การไม่ยอมมูฟออนสู่สิ่งใหม่ๆ ที่พัฒนาไปในแต่ละวัน ไปจนถึงการปัดความรับผิดชอบต่อปัจจุบันด้วยการอ้างถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คงจะเป็น การที่ผู้คนพยายามจะทำให้ตัวเองดูอ่อนกว่าวัยอยู่ตลอดเวลา (ไม่ว่าจะด้วยการศัลยกรรม หรือวิธีใดๆ ก็ตาม) เนื่องจากเสพติดภาพจำของตัวเองในอดีต,  การส่องโซเชียลมีเดียของเพื่อนเก่า แฟนเก่า หรือคนที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต จนไม่ยอมมูฟออน และต้องเจ็บปวดซ้ำๆ ที่ใหญ่ไปกว่านั้นคือ การติดอยู่กับความรุ่งเรืองในอดีตที่คนยกย่องเชิดชู จนละเลยการตระหนักรู้ถึงบาดแผลจากอดีตที่เกิดขึ้นกับผู้คน และวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ ความเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศ และอีกหลากหลายความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชน

Photo Credit: history.com

เมื่อครั้งหนึ่งความคิดถึงเคยเป็นโรคร้าย

พูดถึงหน้าประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 17 Nostalgia เคยถูกวินิจฉัยให้เป็นอาการทางจิตเวช โดยใช้พิจารณาบุคคล 2 ประเภทคือ บุคคลที่โดดเดี่ยวแปลกแยกจากผู้อื่น และบุคคลที่ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดทางกาย และทางอารมณ์ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับครอบครัว หรือถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่ง Nostalgia ถูกพิจารณาเป็นอาการป่วยทางจิตอยู่จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยคำวินิจฉัยโรคใหม่ๆ ในศตวรรษที่ 20

ในช่วงศตวรรษที่ 17 ความหมายของ Nostalgia ในเชิงสุขภาพจิต มีคอนเซปต์มาจาก บาดแผลของสงคราม โดย Hans Johannes Höfer ได้ทำการศึกษาในหมู่ทหารรับจ้าง ที่ค้นพบว่า พวกเขาโหยหาอดีตวัยเด็กมากขึ้น เมื่อพวกเขาต้องเผชิญความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม ซึ่งทหารที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Nostalgia ในช่วงเวลานั้น จะมีอาการวิตกกังวล, ร้องไห้, นอนไม่หลับ, หัวใจเต้นผิดปกติ, เบื่ออาหาร, รู้สึกว่าเหมือนว่าหยุดหายใจ ซึ่ง Höfer ค้นพบสาเหตุของอาการเหล่านี้ว่า เกิดจากความผิดปกติทางจิตที่โหยหาบ้านเกิด ไม่ใช่ปัจจัยทางด้านร่างกาย

Edward Shorter ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์การแพทย์ และจิตเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต เคยพูดเอาไว้ว่า “Nostalgia ครั้งเคยเป็นโรคร้ายที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต”

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ความคิดถึงจะไม่มีภาพที่ใกล้เคียงกับโรคร้ายต่างๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ในช่วงปี 1800s มีผู้ที่เสียสติจากอาการคิดถึงบ้านอย่างสุดโต่ง ซึ่ง Shorter กล่าวถึงสิ่งนี้ไว้ว่า “ผู้คนต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ออกมาเป็นแรงงาน จนถูกความคิดถึงบ้านครอบงำ และอีกไม่กี่สัปดาห์พวกเขาก็ตาย”

Photo Credit: Penn State Health News

ซึ่งในปัจจุบันอาการเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นกับเหล่าผู้อพยพในแถบประเทศสงคราม แต่อาจจะถูกพิจารณาร่วมกับอาการต่างๆ ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็น Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD), โรคซึมเศร้า, อาการวิตกจริต หรือปัญหาในการปรับตัว

ความเชื่อมโยงของ Nostalgia และปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากการต้องล็อกดาวน์อยู่ที่บ้าน ต้องแยกตัวออกจากสังคม รวมไปถึงการเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา ไม่ว่าจะเป็น ภาวะวิตกกังวล, อาการย้ำคิดย้ำทำ, โรคซึมเศร้า และ PTSD ทำให้ Nostalgia จากศตวรรษที่ 17 หวนกลับมา และเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

Photo Credit: Healthline

ฝันร้ายจากอดีตที่ควบคุมได้

แม้ว่าในวันนี้เราจะพาทุกคนเดินทางผ่านมุมมืดของความคิดถึง แต่ก็ใช่ว่า ความคิดถึงนั้นจะเป็นฝันร้ายเพียงอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้วเราสามารถควบคุมมันได้ ด้วยการมีสติ, รู้จักรักษาสมดุลความคิดถึง, หาคนไว้คอยแบ่งปันเรื่องราวความคิดถึงนั้น, ทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุข หรือรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

สิ่งที่พูดมาอาจจะดูเป็นมายาคติ หรือวาทกรรมของคนที่อยากบำบัดความเศร้า แต่จริงๆ แล้ว หลักการนี้คือ สิ่งที่ได้ผลในการดึงตัวเองออกมาจากการจมดิ่งอยู่กับภาพอดีตแสนสวยงาม หากคิดดูง่ายๆ ก็อาจจะเป็น

  1. ‘การมีสติ’ คือ แกนของการควบคุมให้ Nostalgia อยู่กับร่องกับรอย เพราะในท้ายที่สุด ไม่ได้มีใครบอกให้เราคิดถึงอดีต ดังนั้น เมื่อเราเลือกที่จะคิดถึงมันเอง เราก็ต้องคิดถึงมันอย่างมีสติ
  2. ‘รักษาสมดุลความคิดถึง’ คือ การรักษาสมดุลระหว่างความอบอุ่นในอดีต และการอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถใช้ Nostalgia มาตั้งเป้าหมายชีวิตของเราได้ เปลี่ยนมันเป็นไฟให้เราอยากพัฒนาตัวเองในอนาคต
  3. ‘แบ่งปันเรื่องราวกับคนอื่นๆ’ คือ การที่เราสามารถใช้ Nostalgia เป็นเรื่องราวเชื่อมโยงตัวเราเข้าหาคนอื่นๆ รอบตัว และใช้ความคิดถึงอดีตสร้างความทรงจำใหม่ๆ กับคนที่เรารัก
  4. ‘ทำสิ่งที่มีความสุข’ คือ การเบี่ยงเบนความสนใจออกจากความเศร้าที่เกิดขึ้นจากความคิดถึง แล้วหันไปทำกิจกรรมที่ช่วยให้เราเชื่อมต่อกับอดีตในทางที่ดีแทน เช่น ดูหนังเรื่องโปรด, ฟังเพลงโปรด หรือไปในที่ๆ เราเคยมีความทรงจำดีๆ
  5. ‘หาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ’ คือ อีกหนึ่งหนทางเพื่อให้เราสามารถรับมือกับอารมณ์ และความรู้สึกที่พุ่งเข้าหาเราได้อย่างถูกวิธี

สุดท้ายแล้ว Nostalgia จะเป็นสิ่งที่ดีหรือร้าย ก็ขึ้นอยู่กับการตระหนักรู้ และการรับมือของตัวเราเอง ดังนั้นการใช้ Nostalgia เป็นสิ่งเตือนความจำให้เราภูมิใจกับสิ่งที่เราได้ผ่านมาแล้ว จนเราเป็นตัวของตัวเองในทุกวันนี้ รวมไปถึงใช้มันเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพื่อย้ำเตือนให้เราไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ตอกย้ำ เหยียบย่ำ หรือทำให้มันเกิดซ้ำขึ้นอีก

อ้างอิง

GoodHousekeeping

Psychology Today

Medium

Brainsway

EverydayHealth

Mashable

Ethos

Harley Therapy

Elite Daily