‘ต่อ Tordeps’ โมเดลที่ท้าทายกรอบขนบเพศทางแฟชั่น

แฟชั่นทุกวันนี้เรียกว่าลื่นไหลทางเพศได้เลยหรือเปล่า? นี่คือข้อสงสัยหลักที่บทความนี้จะนำมาชวนคุยกับโมเดลที่มาด้วยลุคที่ลื่นไหลทางเพศท้าทายกรอบขนบเพศพร้อมแพชชั่นด้านแฟชั่น คุยกับ ‘ต่อ - ภาคภูมิ สุวรรณรัตน์’ ว่า เรื่องเพศและแฟชั่นนี้มันเป็นอย่างไรกันแน่ ไปจนถึง แฟชั่นไทย ทำยังไงมันถึงจะเติบโตอยู่รอด

เขาเริ่มต้นการอธิบายให้เข้าใจก่อนว่า ‘แฟชั่น’ ในโลกปัจจุบัน ในทัศนะของเขานั้น มองออกเป็นสองแบบ คือ แฟชั่นสำหรับ commercial และแฟชั่นเพื่อศิลปะ เขาเล่าว่า ทุกแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นมีความงามของตัวเองอยู่ แต่บางครั้งความเป็นตัวของตัวเองอาจจะขายไม่ได้จนสุดท้ายต้องยอมลดทอน ‘aesthethic’ ของตัวเองลงเพื่อให้ขายได้กับคนหมู่มากที่มีกำลังซื้อใต้ทุนนิยม เพราะไม่ใช่ทุกคนต้องการเสพอาร์ต แฟชั่นมากขนาดนั้น แฟชั่นจึงถูกมองออกไว้ได้สองเลนส์ 

แฟชั่นมันลื่นไหลทางเพศไหม? ต้องบอกก่อนว่าจุดเริ่มต้นของแฟชั่นตามประวัติศาสตร์มันถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า แบบไหนคือแฟชั่นผู้ชาย และแบบไหนคือแฟชั่นผู้หญิง จนถึงยุคโลกใหม่ในปัจจุบัน แบรนด์ต่างๆ ก็มีการแบ่งแยก แฟชั่นโชว์ชายและแฟชั่นโชว์หญิงอย่างชัดเจน ร้านค้าต่างๆ แบ่งโซน menswear และ womenswear อย่างชัดเจน

“คำว่าความลื่นไหลทางเพศในอุตสาหกรรมแฟชั่น มันไม่ได้ชัดเจนมากมายหรอก แต่มันอยู่ที่ผู้บริโภคมากกว่าที่ปรับซื้อผ้าเหล่านั้นมาเป็นสไตล์ของตัวเอง

แล้วทำให้มันลื่นไหลทางเพศ”

“แต่ถ้าแบรนด์แฟชั่นถ้าจะอยู่ให้ได้ต้องไม่ทำให้เข้าถึงยากเกินไป ถึงแม้เสื้อผ้าจะสวย จะอาร์ตจ๋าแค่ไหน แต่ถ้าสุดท้ายมันขายไม่ได้ให้กับคนหมู่มากในระบบทุนนิยมนี้ แบรนด์นั้นก็จะอยู่ไม่รอด”

ความลื่นไหลทางเพศของแฟชั่นเกิดมาจากการหยิบนำไอเทมมาปรับแต่งให้เข้าสไตล์ของคนแต่งตัวมากกว่าจะเป็นที่ตัวไอเทมตั้งแต่ต้นออกมากกว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วคนที่ชอบแต่งตัว จะตามหาสไตล์ตัวเองได้อย่างไรบ้าง มีประสบการณ์อยากแชร์เกี่ยวกับการตามหาสไตล์และการเข้าสู่อาชีพโมเดลที่ลื่นไหลทางเพศบ้างไหม เขาแชร์ว่า 

“สไตล์ของเรามัน progress ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เราไม่เคยนิยามการแต่งตัวหรือสไตล์ตัวเองเลยว่ามันคืออะไร แต่ก่อนเราไม่เคยสนใจแฟชั่นเลยจนกระทั่งมีครั้งหนึ่งได้ไปญี่ปุ่น เจอช็อป ‘Gucci’ ใกล้รถไฟใต้ดิน มีรองเท้าน่ารักดีก็เลยติดใจมากๆ สุดท้ายไม่ได้ซื้อนะแต่ก็ติดตากับไอเทมแฟชั่นแบบนี้ เราเลยศึกษาเกี่ยวกับแฟชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ และเราก็เริ่มตั้งคำถาม ทำไมสมมุติในห้างสรรพสินค้าที่มีร้านเสื้อผ้า 20 ร้าน จะมีเสื้อผ้าผู้หญิง 17 ร้านแล้วร้านผู้ชายแค่ 3 ร้าน เราคิดว่าการใส่เสื้อผ้าโดยไม่ยึดว่ามาจากร้านชายหญิง ใส่ไอเทมผู้หญิงมันก็สนุกนะ ชุดเดรสแรกที่ซื้อก็ได้มาจาก ‘Zara’ เอามาลองใส่ก็สนุกดี”

“ส่วนแรงบันดาลใจอื่นๆ เราก็ได้มาจากการตามคนในไอจี เราแต่งตัวแบบทดลองไปเรื่อยๆ ว่าชอบใส่อะไร ใส่อันไหนแล้วรู้สึกโอเคก็ใส่แล้วก็ทดลองแต่งตัวกับตัวเองไปเรื่อยๆ ส่วนงานโมเดลก็เริ่มจากมีโอกาสได้ไปถ่ายช่วงมหาลัยก่อน เรียนจบก็มีคนเห็นสไตล์เราผ่านในไอจีแล้วชอบ ก็ชวนไปเป็นโมเดลแล้วก็ตอนนี้ได้มาทำจริงจังเซ็นสัญญากับเอเจนซี่” 

แฟชั่นไทยวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง? คำถามในฐานะคนที่ทำงานอยู่ในวงการนี้มีมุมมองอะไรที่อยากจะแชร์ไหมว่าจะทำอย่างไรให้วงการแฟชั่นไทยเติบโตขึ้นได้ 

“พูดถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตอนอยู่มหาลัยเราเคยศึกษาเรื่องนี้ และได้ฝึกงานกับแม็กกาซีนแฟชั่นหัวหนึ่งในไทย เริ่มด้วยการตั้งคำถามในหัวว่า ‘ทำไมแฟชั่นไทยมันไม่โตไปไหน’ สิ่งที่เราเห็นคือ มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เชื่อมโยงกัน แมกกาซีนแฟชั่น, แบรนด์แฟชั่นหัวใหญ่ๆ, สปอนเซอร์, การเมืองในอุตสาหกรรมแฟชั่น และ ระบบ seniority ที่เหนียวแน่น ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน และมันวนเวียนเป็นระบบไม่ไปไหนเลย แมกกาซีนยังเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่ทำ ตากล้องคนเดิมๆ สไตล์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน ดาราหน้าเดิมขึ้นปก และใช้แบรนด์เสื้อผ้า ’หัวใหญ่’ รายเดิมๆ เราแทบไม่เห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านแฟชั่นในแมกกาซีนไทยเลย ชุดแฟชั่นธีสิสที่อลังการกว่าแบรนด์หัวใหญ่ทั้งหลายไม่เคยได้ขึ้นปกแมกกาซีน เด็กรุ่นใหม่พอไม่ได้ถูกซัพพอร์ตจากด้านนี้ เค้าก็จะเติบโตได้ยาก และสุดท้ายก็จะท้อที่จะเป็นดีไซน์เนอร์ในประเทศโลกที่สามนี้ และเลิกสนใจแฟชั่นไปในที่สุด น่าเสียดาย” 

“ปัญหาคือแมกกาซีนก็ไม่ยอมทิ้งอีโก้และสปอนเซอร์และไม่ยอมเปิดใจ ‘ให้โอกาส’ เด็กรุ่นใหม่ขึ้นมารับมือต่อ ทั้งๆ ที่มันควรเป็นระบบที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เราคิดว่าแมกกาซีนแฟชั่นไทยมีวัตถุดิบที่ดีมากพอที่จะทำให้ตัวแมกกาซีนเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้มากกว่านี้ มีดีไซน์เนอร์ไทยรุ่นใหม่มากมายที่มีความสามารถและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ชอบเป็นส่วนตัวก็มี grofe.official, adi, labhommes, iwannabangkok และแบรนด์ธีสิสอีกมากมาย เรารู้สึกว่าแบรนด์เหล่านี้มีโพเทนเชียลสูง เราคุยกับเพื่อนตลอดว่าอยากให้พวกเค้าไปได้ไกลกว่านี้ ระดับนานาชาติ ความสามารถที่พวกเค้ามี กับสิ่งที่พวกเค้าได้กลับมาในฐานะ ‘ดีไซน์เนอร์ในเมืองไทย’ มันน้อยมากเทียบกับสิ่งที่เค้าควรได้ คนที่จะช่วยพวกเค้าได้ก็คือทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่นและแมกกาซีน ที่มีอำนาจและทรัพยากร ‘ความเป็นสื่อ’ มากมายในมือ” .

“สิ่งที่จะทำให้วงการแฟชั่นไทยเติบโตได้คือการเปลี่ยนผ่าน การเพิ่มขยายพื้นที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่มาพร้อมความสามารถมากมายได้มาปล่อยของ สนับสนุนแบรนด์เล็กๆ บ้าง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนให้มีแสงใหม่ๆ เข้ามาบ้างก็จะไม่มีสิ่งใหม่ให้เติบโตงอกงามได้เลย“

ติดตามไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของ ต่อ ภาคภูมิ ได้ที่ tordeps