เพียว ธนายุทธ มุมมองใหม่ของไทชิ

ถ้าให้ผู้อ่านลองหลับตาแล้วนึกถึงกีฬาไทชิ เชื่อว่าภาพแรกที่ลอยเข้ามาในความคิด คงจะเป็นคุณลุงคุณป้ากำลังร่ายร่ำอย่างเชื่องช้าอยู่ในสวนสุขภาพเป็นแน่ เพราะในอดีตตัวผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั้น ไม่เคยมีภาพจำที่สนุกกว่านี้เลยจริงๆ จนเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน ได้รู้จักกับ เพียว ธนายุทธ เติมประยูร (Pure - Thanayut Termprayoon) นักกีฬาไทชิ มือหนึ่งของไทย 3 สมัยซ้อน ความคิดและมุมมองก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะพี่เขาเป็นคนแรกที่ทำให้เรามองไทชิว่าเป็นอะไรที่ “โคตรเท่!” 

จุดเริ่มต้นที่ต่าง 

จะลดน้ำหนักทั้งที คนอื่นๆ อาจเลือกการออกกำลังกายที่หนักและเคลื่อนไหวรวดเร็ว อย่างการวิ่ง ฟุตบอล หรือเทนนิส เพื่อให้ร่างกายเหนื่อยแบบสุดๆ จะได้รีดไขมันออกได้เต็มที่ แต่คงไม่ใช่กับเขาคนนี้ ที่เลือกใช้การออกกำลังกายที่เชื่องช้าอย่างไทชิควบคู่ไปกับการคุมอาหาร ซึ่งผลลัพธ์ก็ทำให้เซอไพรส์มากทีเดียว เพราะพี่เพียวบอกว่า

“เห็นช้า ๆ แบบนี้ แต่ไทชิก็ทำให้ลดน้ำหนักลงไปได้เกือบ 60 กิโลกรัม ในเวลาแค่ 6 เดือน”

“หลายคนมองว่าการเคลื่อนไหวช้า ไม่มีประโยชน์อะไรมาก แต่จริงๆ ไทชิก็มีการเคลื่อนไหวที่ยากอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกระโดด ตีลังกา หรือฉีกขาแบบยิมนาสติก ที่ใช้กล้ามเนื้อขาเป็นหลัก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มันเลยทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานเยอะ ช่วยลดน้ำหนักได้ดี เมื่อก่อนเราหนัก 115 กก. ก็หาวิธีลดน้ำหนักมาเรื่อยๆ จนมาเจอไทชิ พอได้ลองเล่นก็รู้สึกได้ว่าเจอในสิ่งที่ชอบ ช่วง 3 เดือนแรก เป็นช่วงปิดเทอมเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย มีเวลาว่างมาก ก็เล่นทั้งวัน เลยลดไปได้ 40 กก. แต่สิ่งสำคัญคือการคุมอาหาร ที่ต้องทำควบคู่กันไป ไม่ใช่ออกหนักแต่ยังกินเยอะ (หัวเราะ)” 

เสน่ห์ในความเชื่องช้า

จากจุดเริ่มต้นที่มองเห็นประโยชน์ในสิ่งที่หลายคนมองข้ามไป ทำให้เขาผู้นี้ได้พบกับอีกหลายเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่อีกมากในไทชิ พี่เพียวเล่าว่า ไทชิ (ภาษาสากล) ไทเก๊ก (จีนแต้จิ๋ว) หรือไท่จี๋ (จีนกลาง) แล้วแต่จะเรียก เป็นมวยจีนแขนงหนึ่ง ที่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวอ่อนนุ่ม อ่อนช้อย เป็นศาสตร์ที่ทำให้คนที่เริ่มมีกำลังน้อยลงหรือคนสูงอายุ สามารถต่อสู้กับคนหนุ่มสาวได้ โดยอาศัยหลักการไม่ใช้แรงของตน แต่ยืมแรงคู่ต่อสู้ในการสะท้อนกลับ ผู้ฝึกจะได้ในเรื่องความอ่อนตัว การทรงตัว รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ซึ่งจะมีประโยชน์มากหากเราอายุมากขึ้น เพราะช่วยป้องกันการหกล้มได้ พูดได้ว่าไทชิเป็นกีฬาหรือการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับคนสูงอายุ

นอกจากนั้น ไทชิยังถือเป็นกีฬาที่ไม่มีจุดจบ ยิ่งผู้ฝึกมีสมาธิและมีความอ่อนโยนทางจิตใจ ก็จะยิ่งทำให้ท่าทางผ่อนคลายมากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อตัวเราในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ช่วยในเรื่องของความจำ ช่วยให้มีความคิดที่เป็นขั้นตอนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราได้เปรียบคนอื่นในหลายเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเรียน เรื่องงาน และการตัดสินใจในชีวิต 

“วัยรุ่นก็เล่นไทชิเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกายและลดอาการบาดเจ็บในอนาคตได้นะ อย่างตอนเรียนเรามีเพื่อนร่วมคณะส่วนใหญ่เป็นนักกีฬา หลายคนก็มักจะมีอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอยู่บ่อย ๆ เช่น กล้ามเนื้อฉีก กล้ามเนื้ออักเสบ แต่ตั้งแต่เล่นไทชิมา เราไม่เคยเจ็บเลย ถือว่าตอนนี้เล่นเพื่อทำให้ร่างกายดีและเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับอนาคต เพราะทุกคนต้องแก่”

เป้าหมายชัด สำเร็จไว

หลักจากบรรลุเป้าหมายการลดน้ำหนักดังใจหวังแล้ว เขาก็ได้ตั้งเป้าหมายใหม่เพื่อต่อยอดสิ่งที่ตัวเองชอบให้ไปไกลยิ่งขึ้น ด้วยการมุ่งมั่นติดทีมชาติของสมาคมไท้เก๊กประเทศไทย (Taichi Association of Thailand) ภายใน 2 ปี แล้วก็ทำได้จริงๆ 

“เรามีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากกับทุกเรื่อง ถ้าได้ลองทำอะไรแล้วก็จะโฟกัสอยู่กับสิ่งนั้นและต้องทำให้ได้ ทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน และกับไทชิเอง พอเรามีเป้าหมายชัดเจน เจอโค้ชที่ดี และมีช่องทางที่ถูก ก็ทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็ว ปัจจุบันเราเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย 3 สมัยแล้ว การไปแข่งแต่ละครั้งก็เพื่อรักษาแชมป์ ส่วนการแข่งขันต่างประเทศ ถ้าจังหวะพร้อมก็จะไป”

สำหรับแมตซ์ที่ประทับใจ เขายกให้ที่ปักกิ่งเมื่อหลายปีก่อน เพราะมีโอกาสได้เข้าแข่งขันในรายการที่รัฐบาลจีนจัดเอง เป็นงานใหญ่ที่มีนักกีฬาจากหลายประเทศและหลายมณฑลในจีนเข้าร่วม ซึ่งเขาเป็นนักกีฬาต่างชาติคนเดียวใน Top 5 เพราะลำดับที่ 1 ถึง 4 และ 6 เป็นต้นไป เป็นคนจีนทั้งหมด

ทางเดินใหม่ บนเป้าหมายเดิม

เพียวเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีความตั้งใจจะแข่งขันเพื่อไปเอเชียนเกมส์อยู่เหมือนกัน แต่มาเจอวิกฤตโควิดเสียก่อน ทำให้วิถีการทำงานและการใช้ชีวิตเริ่มเปลี่ยนไปหลายอย่าง เลยตัดสินใจว่าคงจะไม่แข่งขันเข้มข้นเหมือนเดิมแล้ว แต่ก็จะยังคงทำเป้าหมายเดิมต่อไป คือ “ต่อยอดสิ่งที่ตัวเองชอบ” เปลี่ยนจากการแข่งขันเพื่อไปสู่รายการใหญ่ๆ มาเป็นพัฒนาไทชิในแขนงที่ถนัด เพื่อสืบสานและถ่ายทอดเสน่ห์นี้ไปสู่คนที่สนใจ

 “กระบวนท่าของไทชิ มีหลายชุดและหลายตระกูลมากๆ เช่น ท่าพื้นฐาน 24 ท่า , 42 ท่า, 56 ท่า, 85 ท่า ฯลฯ เราเองไม่ได้รำได้ทุกชุด เลยเลือกโฟกัสแค่ชุดที่ตัวเองถนัดและชอบ นั่นก็คือ ‘ตระกูลเฉิน’ ซึ่งโดดเด่นกว่ากระบวนท่าอื่น เพราะมีจังหวะกระแทก และมีจังหวะช้า-เร็ว สลับกันไป ไม่ช้าเหมือนที่เคยเห็นกัน เรียกได้ว่าเป็นการฝึกแบบ Interval Training สามารถช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้มากขึ้น ปัจจุบันก็ได้นำความถนัดในด้านนี้มาฝึกสอนให้กับคนในชมรมเหยียนเฉวียนอู่ตัง สวนหลวง ร. 9 (Yuanquan Wutang) ถ้าใครสนใจก็เชิญได้ครับ”

ก่อนจากกัน นักกีฬาไทชิมือหนึ่งของไทย ได้ทิ้งท้ายแบบติดตลกไว้ว่า

“ด้วยลักษณะที่เฉพาะของกีฬาบวกกับไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่น ทำให้การจะพูดชวนคนรุ่นใหม่ให้มาเล่นไทชิ เป็นเรื่องยากพอๆ กับชวนเด็กแว้นให้มานั่งสมาธิ สุดท้ายแล้วมันจะมีประโยชน์หรือไม่ก็ต้องมาลองด้วยตัวเอง”