Identity

‘สยาโม’ กับความสุขในหัวใจที่ได้ ‘แกล้งเชย’

ถ้าใครได้ใช้ TikTok ในช่วงปีที่ผ่านมา น่าจะต้องเคยเลื่อนเจอคลิปของครีเอเตอร์สาวคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาดัดผมลอนเล็ก หยิบเสื้อผ้าเก่าๆ ที่คนมองว่าเชย มาแต่งใหม่ ก่อนพาเราย้อนกลับไปคิดถึงชีวิตที่ถูกเวลาพาให้หายไป เธอคนนั้นคือ ‘สยาโม’ หรือ ‘แตงโม’ – สยาภา สิงห์ชู ที่บางคนอาจจะรู้จักเธอในฐานะผู้เข้าประกวดรายการ The Voice Thailand แต่วันนี้เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับเธอถึงแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังสไตล์การแต่งตัววินเทจ, คอนเทนต์ที่พาให้เรานึกถึงอดีต และความสุขของการได้หวนคิดถึงวันวานอีกครั้ง

จาก ‘ความทรงจำ’ สู่ ‘ภาพจำ’

ช่วงสายของวันอาทิตย์ในบรรยากาศสบายๆ เราได้ชวนโมมาย้อนนึกถึงจุดเริ่มต้นของสไตล์วินเทจที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอ ซึ่งโมเล่าให้เราฟังว่า เธอโตมาในครอบครัวสายบันเทิง การดูละครหลังข่าว เสียงเพลง และการซื้อของมือสอง

“มันน่าจะมาจากเราเริ่มต้นด้วยการร้องเพลงตั้งแต่เด็กๆ เลย ซึ่งเพลงที่ร้องมันก็จะไม่ใช่เพลงแบบวัยรุ่นทั่วไป เราโตมาในต่างจังหวัด แล้วก็เริ่มต้นจากการร้องเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ที่โรงเรียนส่งประกวด เราก็จะมีคลังเพลงเก่าเยอะมาก จนโตขึ้นมาไปประกวด The Voice เราก็ยังคีพคาแร็กเตอร์ด้วยการร้องลูกทุ่ง ร้องไทยเดิม”

“ถ้าย้อนกลับไปอีก พื้นฐานของครอบครัวคือ ชอบดูละคร ที่บ้านเป็นอู่ซ่อมรถธรรมดาๆ ไม่ได้อยู่ในสายบันเทิงอะไร เวลาพ่อแม่ทำงาน เราก็นั่งดูทีวีกับน้อง แล้วตอนกลางคืนก็ดูละครหลังข่าวกับที่บ้าน บวกกับจริงๆ เป็นคนชอบช็อปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้าอยู่แล้ว แล้วก็ชอบของมือสองมากเลยค่ะคุณแม่ก็ชอบด้วย” โมเล่า

“สไตล์ของเรามันก็มาเริ่มต้นแบบชัดเจนจริงๆ ในช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัย มันมีเทรนด์เสื้อผ้ามือสอง ตอนนั้นก็ยังไม่เป็นเทรนด์มาก แต่เราชอบไปเดินซื้อเสื้อผ้ามือสอง แล้วก็เริ่มแต่งให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนนั้น แล้วมันแมตช์กับความชอบด้านดนตรีพอดี ก็พยายามจะค้นหาตัวเองในแง่ของการสร้างตัวตนศิลปินมาสักพักหนึ่ง เมื่อก่อนร้องเพลงแต่ว่าไม่มีภาพจำ ทุกคนรู้ว่า ร้องเพลงเพราะ แต่ว่าคนไม่จำ คือจำไม่ได้เลย ก็พยายามจะค้นหาสิ่งที่เป็นภาพลักษณ์ เป็นแบรนดิ้งอะไรบางอย่างทำให้คนจดจำ แล้วมันก็มาแมตช์กันพอดี”

สตอรี่ที่อยู่ในเสื้อผ้า และสไตล์ที่เรียกว่า ‘แกล้งเชย’

ด้วยสไตล์ที่โดดเด่นของสยาโม ทำให้เราอยากรู้ว่าเจ้าตัวจะนิยามสไตล์นี้ของเธอว่าอะไร?

“มันน่าจะเรียกว่า ‘Neo Vintage’ แล้วกัน มันมีความวินเทจแต่ว่าถูกเอามาทำด้วยคนรุ่นใหม่ ถูกเอามาดัดแปลงกับแมตทีเรียลใหม่ๆ แต่ก็ยังมองออกว่า มันคือความวินเทจ จริงๆ ภาษาไทยจะเรียกว่า ‘แกล้งเชย’ ก็ได้ค่ะ ใช้คำว่าแกล้งเชยแล้วกัน เอาความเชยมาทำให้มันดูเก๋ ดูเท่” แตงโมอธิบาย

“โมพยายามจะบาลานซ์สไตล์ของโม ระหว่างความเก่ากับใหม่ เพราะว่าคอนเทนต์ที่ทำจริงๆ กลุ่มเป้าหมายที่ดูไม่ใช่ผู้สูงอายุเลย แต่กลับกลายเป็นเด็กๆ น้องๆ ไล่ตั้งแต่ประถม มัธยม มหา’ลัย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราเชยไปเลย แก่ไปเลย คนกลุ่มนี้จะไม่เก็ท เลยพยายามดึงเอาจุดเด่น เช่น ลายเสื้อผ้าที่เขาเคยเห็นในตู้เสื้อผ้าคุณแม่ หรือเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ ออกมาผสมกับความร่วมสมัย ความทันสมัย ตัวอย่างเช่น เดรสคุณแม่ เดรสคุณป้า เอามาใส่กับรองเท้าผ้าใบ หรืออะไรที่มันใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน หรือบางอย่างที่มันคอนทราสต์กันมาก มันก็ทำให้เกิดเป็นสไตล์ใหม่ที่แปลกตาขึ้น”

มาถึงตรงโมก็เริ่มอธิบายเหตุผลที่เธอหลงเสน่ห์การแต่งตัวในสไตล์ที่เธอเรียกมันว่าการแกล้งเชยนี้

“แน่นอนว่า มันเป็นสิ่งที่มันหาดูได้ยากในปัจจุบัน คือใน 100 คน จะมีสักกลุ่มหนึ่ง 10-20 คน ที่สนใจแนวเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันก็โดดเด่นด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ว่าเสน่ห์ของมันมากกว่านั้นก็คือ มันเหมือนเป็นการดึงเอาภาพเก่าในอดีตที่เราเองก็เกิดไม่ทันหรอก เราจะเห็นจากรุ่นคุณยาย เห็นจากละคร มันก็เป็นความแปลกใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำนักในปัจจุบัน”

“มันเป็นสตอรี่ที่มากับเสื้อผ้าด้วย อย่างเสื้อผ้าหลายชิ้นของโมก็เป็นเสื้อผ้ามือสอง เป็นเสื้อผ้ารุ่นคุณแม่ ซึ่งมันก็จะมีเรื่องราวอยู่ในเสื้อผ้าแต่ละชิ้นด้วย”

กว่าจะได้สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์นี้มา คอนเทนต์ครีเอเตอร์สาวก็เล่าให้เราฟังว่า เธอต้องผ่านช่วงการค้นหาสไตล์มาแล้วเหมือนกัน

“พอเราเล่นโซเชียลใช่ไหม เราก็พยายามตามหาตัวตนว่า จะแต่งตัวแบบไหนที่จะทำให้เราดูดีขึ้น ก็ลองมาทุกแบบเหมือนกัน เห็นเน็ตไอดอลใส่เสื้อผ้าแบบไหน เราก็อยากจะแต่งบ้าง เพราะคิดว่าจะดูดีแบบเขา (หัวเราะ) ก็ลองซื้อเสื้อผ้าแบบทั่วไป เหมือนที่วัยรุ่นทุกวันนี้ใส่ก็มีเหมือนกันค่ะ แต่แบบเสื้อผ้าวินเทจมันเข้ากับเราที่สุด

พอเรารู้ว่าแกนของเราคืออะไร มันก็จะเป็นการหาแรงบันดาลใจบางอย่างมาทำให้มันกลมขึ้น ยิ่งพอตอนนี้เราเป็นผู้นำเทรนด์ มันก็ยิ่งง่าย เพราะเราไม่จำเป็นจะต้องไปตามใครแล้ว มันกลายเป็นว่ามีน้องๆ มาแต่งตามเราแทน บริบทมันกลับกันไปแล้ว”

สยาโมในโลกของ ‘คอนเทนต์’

“สมัยนี้มันง่ายเนอะ” โมพูดขึ้นเมื่อเราถามว่า เธอเบลนด์เรื่องราวจากอดีตเข้าสู่แพลตฟอร์มคอนเทนต์สมัยใหม่ได้อย่างไร?

“คือเมื่อก่อน Nostalgia มันอาจจะเป็นแค่ความคิด แล้วมันไม่สามารถจะถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้ แต่พอมี TikTok เราก็เลยถ่ายทอดสิ่งนี้ผ่านรูปภาพ เสียง หรือวิดีโอได้ มันสามารถจำลองบรรยากาศ และความรู้สึกโหวงๆ ในใจนี้ได้ โมเรียก Nostalgia ว่าความโหวงนะคะ เพราะเมื่อไรมี Nostalgia เกิดขึ้น ใจมันจะโหวง จะคิดถึงแบบบอกไม่ถูก โซเชียลมีเดียมันเป็นตัวช่วยในการถ่ายทอดให้คนดูรู้สึกไปกับเราให้ได้มากที่สุด ซึ่งโมมองว่า การเอา Nostalgia มาทำคอนเทนต์มันเป็นการเล่นกับความรู้สึกของคน แล้วพอมันทัชใจ คนก็จะรู้สึกเหมือนลงไปอยู่ในคอนเทนต์นั้นด้วย มันก็จะเป็นฟีลเหมือนเสพติด ไถฟีดดูไปเรื่อยๆ แล้วก็นึกถึงอดีต”

“คอนเทนต์ของโมมันจะเป็นคอนเทนต์ที่ดูแล้วอมยิ้มตาม เป็นความรู้สึกสบายใจ เหมือนได้พักจากช่วงเวลาปัจจุบัน ไปเห็นอะไรในอดีตแบบเพลิดเพลินตา หรือเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ซึ่งมันน่าจะทัชใจสำหรับคนที่มาดู และยิ่งเขามีประสบการณ์ร่วมมากเท่าไร เรายิ่งรู้สึกว่าคอนเทนต์ของเราประสบความสำเร็จ”

ในฐานะคนทำคอนเทนต์สยาโมก็ได้ซ่อนเมสเซจเล็กๆ เอาไว้ในงานของเธอด้วย

“จริงๆ แล้วเพิ่งมารู้ว่า สิ่งที่ทำมันคือ Nostalgia แล้วก็เลยทำให้รู้สึกกับตัวเองได้ว่า ปัจจุบันที่แบบเราอยู่ตรงนี้เราอาจจะมองว่า มันน่าเบื่อ วันนี้ไม่มีความสุขเลย วันนี้มีปัญหา เป็นวันที่แย่จังเลย ก็จะมานึกถึงตอนนี้แหละ ที่เรามองเรื่องอดีตเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องที่สามารถเล่าได้ทั้งรอยยิ้ม เราก็มองว่า ปัจจุบันนี้กำลังทุกข์อยู่ หรือแบบมีปัญหาอยู่ เดี๋ยววันข้างหน้ามันก็ต้องผ่านไปได้ แล้วเราจะมาเล่าถึงเหตุการณ์วันนี้ด้วยความรู้สึก Nostalgia แล้วคิดถึงวันเวลาตรงนี้ มันก็จะเหมือนเป็นกำลังใจให้เราก้าวข้ามผ่านความทุกข์ตอนนี้ไปได้” โมเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“เราเกิดไม่ทันยุคนั้นหรอก เราก็ได้แต่จินตนาการว่า โอ้ ยุคนั้นเขาคงอยู่กันแบบนี้ ดูมีความสุขจัง คือการที่ได้เห็นคอมเมนต์ดีๆ เรารู้สึกว่า ผู้ชมของเรารู้สึกอย่างไร มันก็จะฟีดแบ็กกลับมาที่ตัวเราอยู่แล้วแหละว่า คอนเทนต์เรามันให้อะไรกับเขาบ้าง คืออยากให้มันลงตัวให้มากที่สุด อยากให้ทุกอย่างมันกลม และมีความ Nostalgia อยู่ในนั้น”

เสียงของความคิดถึง

โมบอกกับเราว่าฟีดแบ็ก และคำคอมเมนต์เปรียบเหมือนส่วนเติมเต็มเรื่องราวที่ยังไม่สมบูรณ์ ให้สมบูรณ์ขึ้น เหมือนคนดูทุกคนช่วยเธอทำคอนเทนต์ไปด้วย

“ส่วนใหญ่ก็มีแต่ฟีดแบ็กที่ดีนะคะ ไม่ค่อยมีคอมเมนต์ลบๆ คนที่ดูคอนเทนต์เราจริงๆ มันแบ่งเป็น 2 กลุ่มก็คือ เด็กนักเรียน นักศึกษา กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ วัยกลางคน ผู้สูงอายุ ซึ่งคนสองกลุ่มนี้จะมองคอนเทนต์ของเราคนละมุมมองกัน อย่างเด็กๆ เขาจะรู้สึกว่า คอนเทนต์ของเรา หรือสไตล์การแต่งตัวของเรามันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แล้วเขาไม่เคยเห็น เขารู้แค่ว่า มันเท่ดี หรือว่าอาจจะเป็นความทรงจำแบบสั้นๆ แบบเล็กๆ ที่เคยเห็นคุณพ่อคุณแม่ใส่ มันก็เลยเป็นตัวดึงดูดที่ทำให้เขาสนใจคอนเทนต์เรา แต่ว่าในมุมมองของผู้ใหญ่เขากลับมองว่า เหมือนเราเป็นตัวแทนของเขาในตอนที่เขายังเป็นหนุ่มเป็นสาว เช่น ‘เมื่อก่อนป้าก็เคยแต่งตัวแบบนี้’ ‘เมื่อก่อนเคยไปเดทกับแฟนที่นี่’

มันจะมีคอนเทนต์หนึ่ง ที่เราเขียนแคปชั่นในคลิปนั้นว่า แต่งตัวไปเที่ยวแดนเนรมิต แล้วก็มีคุณลุงท่านหนึ่ง เขามาคอมเมนต์ประมาณว่า ‘แต่งตัวแบบนี้เหมือนตอนที่ไปเดทกับภรรยาทุกวันนี้เลย ปัจจุบันลูกโตแล้ว มีลูกมีหลานแล้ว’ แล้วก็มีคอมเมนต์หนึ่งก็คือ ‘น้ำตาจะไหลเลย คิดถึงตอนตัวเองเป็นสาว’ ซึ่งเขาก็สูงอายุมากแล้ว ทำให้รู้สึกว่า คอนเทนต์เรามันก็มีคุณค่าทางด้านจิตใจนะ ไม่ได้เป็นคอนเทนต์ที่ทำเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่มันเหมือนไปทำให้จิตใจเขาชุ่มชื่นมากขึ้น”

“มันเหมือนเป็นการดึงเอาความทรงจำของเขาที่มันไม่มีให้เห็นแล้วกลับมาให้มันเห็นเป็นรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง”

“การได้ย้อนกลับไปนึกถึงอดีตจริงๆ มันอาจเป็นความรู้สึกเศร้านิดๆ ก็ได้เนอะ” โมเปิดประเด็นขึ้นเมื่อเราถามถึงสิ่งที่เธอได้จากการนึกถึงอดีต ก่อนที่ความคิดถึงจะพาเธอไปสู่ความสุขเล็กๆ ในหัวใจ

“บางทีเราก็มีความสุขเมื่อนึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ โมรู้สึกว่า มันก็เป็นหนึ่งช่องทางความบันเทิงที่ทำให้เราได้พักจิตใจในปัจจุบัน แล้วก็เอาตัวเองย้อนกลับไปในห้วงความทรงจำที่เราอยากจะจดจำเอาไว้ เหมือนเป็นการหนีปัจจุบันไปสักพักหนึ่ง แล้วก็ไปซบอดีตที่เรารู้สึกว่า อยากจะใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้น แล้วมันทำให้เรามีความสุข” โมอธิบายอย่างมีความสุข

“มันเหมือนได้ดึงเอาความรู้สึกในหัวมาเล่น มาทำให้มันเกิดเป็นความสุขที่จับต้องได้อีกครั้ง แล้วเราได้แชร์ประสบการณ์ตรงนี้ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย เหมือนได้เปลี่ยนเฉดสีจากการใช้ชีวิตปัจจุบัน ไปเป็นการใช้ชีวิตที่มีความสุขตอนเด็กๆ ก็เหมือนเป็นของเล่นทางจิตใจอย่างหนึ่ง”

Fun Facts

  • โมเติบโตมากับเพลงลูกทุ่งของ ‘แม่ผึ้ง’ – พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งเพลงแรกที่โมใช้ประกวดก็คือ ‘นักร้องบ้านนอก’ นั่นทำให้ทุกโชว์ของสยาโมจะขาดเพลงของราชินีลูกทุ่งคนนี้ไปไม่ได้
  • เพลงที่สยาโมฟังบ่อยที่สุด และชอบที่สุดในช่วงนี้คือ ‘สาวนาสั่งแฟน’ ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ เช่นกัน
  • ผลงานเพลงล่าสุดของโมในฐานะศิลปินคือ การร่วม Featuring ในเพลง สุสานหัวใจของ PAPAGUMP ซึ่งอยู่ในโปรเจกต์ที่บอกเล่าอารมณ์ของผู้หญิงในช่วงเวลาต่างๆ
  • ‘แว่นตา’ เป็นไอเท็มที่โมชอบที่สุดในช่วงนี้ เพราะเธอมองว่า มันเป็นเครื่องประดับที่ชอบเสริมลุควินเทจให้เธอได้

ติดตามผลงานของสยาโมได้ที่

YouTube: สยาโม

TikTok: tangmomovoice

Facebook: สยาโม

Instagram: sayamo_ss