Life

‘ไม่อยากทำงาน ไม่มีงานในฝัน’ อุดมการณ์การใช้ชีวิตแบบ ‘Slow Living’ ของเหล่า Gen Z

"อาชีพในฝันของคุณคืออะไร" 

"ที่รัก ฉันบอกเธอหลายรอบแล้วจ้ะ ฉันไม่มีอาชีพในฝัน ฉันไม่ใฝ่ฝันที่จะทำงาน" 

ประโยคข้างบนคือ เสียงไวรัลดังจาก TikTok ที่จุดประเด็นการพูดถึงความใฝ่ฝันที่ไม่อยากทำงานของกลุ่ม Gen Z ที่ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นเจนเนเรชั่นที่ไม่อยากทำงาน พวกเขามักจะแชร์ร่วมกันว่า "ฉันไม่มีเป้าหมาย ฉันไม่มีความทะเยอทะยาน ฉันแค่อยากจะสวย"

ในบทความนี้เราอยากพาทุกคนมารู้จักว่า ทำไมการไม่อยากทำงานถึงกลายเป็นอุดมการณ์สำคัญของ Gen Z และกลุ่ม Millennials จนถึงขั้นมีแฮชแท็ก #IDontDreamOfLabor และการดำเนินวิถีชีวิต 'Slow Living' ที่เป็นกระแสของยุคนี้คืออะไร

Photo Credit: @thetrudz

ทำไม Gen Z ไม่อยากทำงาน ไม่มีอาชีพในฝัน

ปัจจัยสำคัญที่ Gen Z บอกว่า พวกเขาไม่อยากทำงาน เป็นเพราะ งานส่วนใหญ่ให้ค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในยุคปัจจุบัน ข้อมูลจาก ‘Royal Society for Arts’ ที่สำรวจวัยรุ่นอังกฤษอายุ 16 - 24 ปี กว่า 47% ยังไม่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้แบบเดือนต่อเดือน และในอนาคต พวกเขามีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเงินเก็บ เป็นหนี้ และเผชิญวิกฤติทางการเงิน ถ้าเป็นในไทยเองกลุ่มคน Gen Z ก็ต้องทำงานกันอย่างน้อย 30 ปี เพื่อที่จะมีเงินเพียงพอในการซื้อคอนโดหนึ่งห้อง ซึ่งต่างจากค่าครองชีพของคนเจนก่อน

สาเหตุหลักที่ Burn Out 

นักจิตวิทยา Debbie Sorensen เล่าถึงสาเหตุความเครียดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไว้ว่า “กลุ่มคนรุ่น Millennials และ Gen Z ถูกเลี้ยงมาด้วยความกดดันสูง เพื่อให้เป็นคนที่ต้องประสบความสำเร็จให้ได้มากๆ แต่พวกเขาก็ต้องเริ่มต้นงานของตัวเองในสภาพแวดล้อมที่โกลาหล ที่พวกเขามีอิสระน้อยที่จะหางานที่มีความหมาย และมีค่าตอบแทนดี” 

Gen Z ส่วนใหญ่ทุกวันนี้มักจะเลือกทำงานที่ให้เงินเยอะไว้ก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงชีพที่สูงขึ้น Gen Z หลายคนจึงตกอยู่ในวังวนของการวิ่งทำงานตลอดเวลาจน Burn Out เปลี่ยนงานบ่อย ทำงานหลายจ็อบ แต่เงินก็ยังไม่พอใช้ เพราะค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตที่สูงขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ค่าแรงในหลายอาชีพนั้นไม่ได้ขึ้นตาม พวกเขาหลายคนจึงมักจะพูดถึงความเหนื่อยล้า และอุดมการณ์ใช้ชีวิตที่ไม่ต้องทำงานกันว่า ‘I don’t dream of labor’

Photo Credit: Brittany Hayles Career Coach / bikkate

#IDontDreamOfLabor 

“ฉันไม่ฝันที่จะทำงาน” คือประโยคยอดนิยมในช่วงโรคระบาด ที่พูดถึงการปฏิเสธ ที่จะทำงานบริษัทนายทุน การทำงาน Nine-to-Five มัน คือการปฏิเสธการวัดคุณค่าของชีวิตด้วยการทำงาน ประโยคนี้มีที่มาจากความเหนื่อยล้าที่จะต้องพยายามทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ความพยายามที่จะต้องทำผลงานให้ดี เพื่อให้บริษัทพอใจ ความเหนื่อยที่ต้องโปรดักทีฟตลอดเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการในโลกทุนนิยม มันคือการแสดงออกเพื่อต่อต้านโลกที่เรียกร้องให้พวกเขาต้องผลิตทุกอย่างเร็ว บริโภคเร็ว และทำทุกอย่างอยู่ตลอดเวลาจนไม่มีเวลาได้พัก

กระแสที่ตามมาจากเรื่องนี้ก็คือ การวิ่งไปหางานสายเทคฯ, สายออนไลน์ครีเอเตอร์, #breakintotech, งานโค้ดดิ้ง หรือ UX/UI ดีไซเนอร์ เพื่อให้ตัวเองสร้าง Passive Income งานที่เห็นเงินในทันที หลายช่องทาง เนื่องจากมันเป็นกลุ่มตลาดงานที่ไม่มีปัญหาเรื่อง underpaid มากนักในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ไม่มีนโยบายเข้าออฟฟิศบ่อย ไม่ใช่งาน Nine-to-Five เสมอไปเพื่อที่พวกเขาจะได้ไปใช้ชีวิตแบบ Slow Living 

Photo Credit: Business Insider

Slow Living คืออะไร

Slow Living คือ การใช้ชีวิตอย่างช้าๆ เป็นการปรับ mindset ให้ใส่ใจกับทุกอย่างที่ทำมากขึ้น และให้เวลาทำกิจกรรมทุกอย่างตามจังหวะของตัวเอง มันคือ การทำทุกอย่างให้น้อยลง แต่ใส่ใจคุณภาพของกิจกรรมที่ทำให้มากขึ้น อย่างการหันมาสนใจงานที่ได้เป็นนายตัวเอง, ทำธุรกิจขนาดเล็ก, ทำงานออนไลน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิต, ใช้เวลาทำงานอดิเรก,  ใช้ชีวิตช้าๆ ดื่มกาแฟ, ให้คุณค่ากับการนอนพักผ่อนเต็มที่, ใช้เทคโนโลยีให้น้อยลง และใช้เวลากับธรรมชาติมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะมีภาพของการไปใช้ชีวิตที่ชนบท เพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย

วิถีชีวิตนี้กลายเป็นภาพชีวิตในฝันของ Gen Z ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ และอิทธิพลของการใช้ชีวิต Slow Living ก็เริ่มขยายไปสู่เมืองใหญ่มากขึ้น อย่างคาเฟ่ที่มีกฎห้ามนำ Laptops มาทำงานในวันเสาร์อาทิตย์ มีเทรนด์การทำฟาร์มบนตึกสูงในเมือง New York ซึ่งเป็นความพยายามส่วนย่อยที่จะสร้างระบบโครงสร้าง Slow Living ให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้อุดมการณ์การใช้ชีวิตอย่างนี้สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นในสังคม นอกจากนี้ในหลายประเทศพัฒนาแล้วพวกเขาก็เริ่มสนใจการผลักดันนโยบายการทำงานที่มีสมดุล การผลักดันการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แก้ไขปัญหา Overwork หรืออย่างในประเทศฝรั่งเศสที่มีกฎห้ามทำงานในวันอาทิตย์ ที่นำเทรนด์การใช้ชีวิตอย่างช้าๆ มาตั้งแต่ก่อนปี 2000

มันเป็นไปได้จริงหรือเป็นภาพฝัน 

ในกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายคนก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า Slow Living และ I don’t dream of labor มันไม่ได้เวิร์คสำหรับทุกคน มันเป็นภาพแฟนตาซีชวนฝันที่ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นเหมือนเรื่องราวของเหล่าอายุน้อยร้อยล้านยอดภูเขาน้ำแข็ง มากกว่าจะเป็นเป้าหมายที่ทุกคนสามารถไปถึงได้จริง เพราะกว่าที่คนๆ หนึ่งจะไปใช้ชีวิตแบบช้าๆ  ได้ พวกเขาก็ต้องมีต้นทุนระดับหนึ่งในชีวิต การจะบอกให้ทุกคนออกจากระบบงานประจำ อาจจะส่งผลให้เจนก่อนอย่าง Gen Y ต้องแบกรับภาระทางชีวิตที่มากขึ้นเพื่อโอบอุ้มคนรุ่นใหม่ และยังต้องคอยดูแลคนรุ่นเก่ายุค Boomer

Photo Credit: CNBC

แล้วประเทศที่กำลังพัฒนาล่ะ เป็นไปได้ไหมที่จะ Slow Living

การจะใช้ชีวิต Slow Living ในประเทศกำลังพัฒนานั้นไม่ใช่สิ่งที่บุคคลทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากมันเรียกร้องต้นทุนในชีวิตที่สูง เพราะปัจจัยของการใช้ชีวิต Slow Living ในประเทศกำลังพัฒนานั้นมันเกี่ยวข้องกับการเมือง นายทุน และเศรษฐกิจแทบจะทุกมิติเลย

ถ้าเศรษฐกิจดี คนทำงานได้ค่าแรงคุ้มค่าเหนื่อย ทุกงานจ่ายค่าแรงที่เพียงพอที่จะสามารถใช้ชีวิตช้าๆ ได้ ต่างจังหวัดมีความเจริญ คมนาคมสะดวก มีงานเพียงพอ อากาศดี การจะเข้าถึง Slow Living นั้น ก็จะเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ทุกวันนี้ในหลายประเทศกำลังพัฒนา แค่มีงานทำ และเลี้ยงชีพตัวเองได้อยู่นั้นก็ยากพอแล้ว ถ้าจะต้องไปให้ถึง Slow Living ในประเทศกำลังพัฒนาก็จะต้องเหนื่อยแบบคูณร้อย นอกจากนี้การจะใช้ชีวิตในชนบทของประเทศกำลังพัฒนานั้น ก็ยังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ทุกคนสามารถตั้งตัว และเลี้ยงชีพตัวเองได้อย่างยั่งยืน

Photo Credit: Annie E. Casey Foundation

ทางออกที่ลงตัวสำหรับยุคปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงทางออกในปัจจุบันสิ่งที่ Gen Z หลายคนกำลังพยายามทำกันอยู่คือ การสู้เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขึ้นค่าแรงให้คุ้มค่ากับความเหนื่อยในการทำงาน และชี้ในภาครัฐมองเห็นปัญหาวิกฤติทางการเงินของวัยรุ่นที่กำลังก่อร่างสร้างตัวในยุคที่ค่าครองชีพสูง การส่งเสียงแก้ไขปัญหา Overwork และการหาทางสร้างการเคลื่อนไหว Anti-Work อย่างยั่งยืนทั้งด้านวัฒนธรรม นโยบายในที่ทำงานด้วยการรวมตัวกันส่งเสียงเรื่องนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วการผลักภาระให้ทุกคนไปแข่งขันกันทำให้ชีวิตตัวเองดีที่สุด สุดท้ายมันก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่ต่างจากกระแสชีวิต ‘Girlboss’ อยู่ดีเพียงแค่เปลี่ยนภาพ aesthetic ใหม่เฉยๆ

การต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนักจนตัวตาย เป็นการตอบสนองของ Gen Z ต่อโลกที่ทุกอย่างรวดเร็วไปเสียหมด ยิ่งผลิตเร็ว บริโภคเร็ว ก็ยิ่งต้องทำงานหนัก ประเด็นสำคัญที่มาพร้อมกับอุดมการณ์ Slow Living คือ ในอนาคตมันจะเป็นไปได้ไหมที่ทุกอาชีพได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับความเหนื่อย มันเป็นไปได้ไหมที่วัฒนธรรมการทำงานหนักจะหมดลง เพื่อให้คนทุกเจนได้มีเวลามาโฟกัสกับการใช้ชีวิตที่ช้าลงกันมากขึ้น มันเป็นการส่งเสียงของคนรุ่นใหม่ว่า “พวกเราเป็นคน ไม่ใช่แค่เครื่องจักรทำงาน พวกเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิต ไม่ใช่ทำงานจนไม่ได้ใช้ชีวิตที่ดี”  

อ้างอิง

I-D
Vox
Slowlivingldn
The RSA
CNBC
Kidology