Life

การเงินดิจิทัล 101: บล็อกเชน คริปโตเคอร์เรนซี และ NFT เกี่ยวข้องกันอย่างไร

Photo credit: Photo credit: Next Advisor

บล็อกเชน คริปโตเคอร์เรนซี และ NFT เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมไทยมาสักพักใหญ่แล้ว ซึ่ง EQ เองก็พูดถึง 3 คำนี้อยู่บ่อยๆ แต่เราเชื่อว่ามีคนอีกมากมายที่อาจจะยังไม่รู้จักมันดีพอ และเกิดความเอ๊ะ! สงสัยขึ้นทุกครั้งเวลาเจอข่าวหรือคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ว่ามันคืออะไรกันแน่ ทำไมถึงเข้ามามีบทบาทกับโลกยุคปัจจุบันมากถึงขนาดนี้ 

ทุกอย่างเริ่มต้นจากแนวคิดการเงินไร้ตัวกลาง

เคยสงสัยไหมว่าทำไมค่าเงินบาทจะต้องถูกเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่เสมอ อย่างล่าสุดที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวมากในรอบ 5 ปี ก็มีการนำเสนอข่าวว่าค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งขึ้น ซึ่งหมายความว่าเงินบาทจะต้องซื้อเงินดอลลาร์ในราคาที่แพงขึ้นกว่าปกติ ขณะที่เงินดอลลาร์จะมีมูลค่ามากขึ้นเมื่อแปลงเป็นเงินบาท หรือเท่ากับว่าคนที่มีเงินบาทอยู่ในกระเป๋า ไม่ว่าจะแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ซื้อสินค้า หรือลงทุนระหว่างประเทศ ก็จะขาดทุนกว่าคนที่ถือสกุลเงินดอลลาร์นั่นเอง

Photo credit: Thaiger

อย่างไรก็ดี เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่กับประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศด้วย เพราะระบบธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve Service: Fed) ออกประกาศนโยบายดูแลควบคุมค่านโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการจ้างงานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ และด้วยการออกแบบระบบการเงินที่ได้เปรียบของสหรัฐฯ นี้เอง ทำให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ตลอดเวลากว่า 100 ปี จึงมักจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วย เช่น ล่าสุดที่เงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ส่วนสำคัญก็มาจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ย Fed Funds 75bp ไปถึง 1.50-1.75% เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยเป็น 3.4% ก่อนสิ้นปีนี้ และ 3.8% ในปี พ.ศ. 2566 เป็นต้น

หรือถ้าจะย้อนกลับไปไกลกว่านี้ เมื่อปี พ.ศ. 2551 กับ ‘วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์’ หรือ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ที่สหรัฐอนุมัติสินเชื่อให้คนซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายเกินไป ดอกเบี้ยต่ำ คนที่เครดิตไม่ดีก็กู้ได้ จนสุดท้ายผ่อนไม่ไหว กลายเป็นหนี้เสีย เศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ และสุดท้ายธุรกิจล้มระเนระนาด กระทบไปถึงการเงินของหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องติดต่อกับสหรัฐ ทำให้ Fed และองค์กรระดับนานาชาติต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาร่วมกัน

Photo credit: BAP Software

นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ที่ทำให้คนเริ่มมองหาระบบการเงินทางเลือกใหม่ ‘การเงินไร้ตัวกลาง’ หรือ ‘Decentralized Finance’ (DeFi) ที่ไม่ต้องมีใครมาคอยควบคุมมูลค่าและการทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มของเศรษฐกิจที่มาจากการกระทำของคนเพียงกลุ่มเดียว

รู้จัก ‘บล็อกเชน’ และ ‘บิตคอยน์’

จากความต้องการที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ในปี พ.ศ. 2552 กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘Satoshi Nakamoto’ ได้คิดค้น ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin: BTC) ขึ้นมา เพื่อเป็นเงินไร้ตัวกลางที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดมูลค่า และสามารถตรวจสอบความถูกต้องร่วมกันได้ ผ่านระบบกระจายศูนย์ที่เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) ก็คือการที่จะไม่ต้องพึ่งพากลไกของ Fed หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่กระจายอำนาจไปสู่มือของทุกคนที่ถือบิตคอยน์แทน เพราะบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบห่วงโซ่ ทุกคนในเครือข่ายจะสามารถมองเห็นข้อมูลต่างๆ ที่ป้อนลงไปได้ แต่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลในเครือข่ายด้วยคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง แค่เพียงมีอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ส่วนกลาง โดยปัจจุบันมีบิตคอยน์อยู่บนบล็อกเชนทั้งหมดประมาณ 21 ล้านเหรียญ

Photo credit: pngtree

สรุปง่ายๆ ได้ว่าบิตคอยน์และบล็อกเชน คือสิ่งที่คิดค้นมาเพื่อตอบโจทย์คนที่ต้องการระบบการเงินที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมกับคนตัวเล็กๆ ในการมีสิทธิ์มีเสียงในเงินของตัวเอง เพราะมูลค่าของเงินเกิดจากอุปสงค์และอุปทานภายในระบบ ปราศจากการควบคุมของผู้มีอำนาจ 

Fact: ปัจจุบันบล็อกเชนไม่ได้ถูกนำมาใช้แค่กับเรื่องการเงินดิจิทัลเท่านั้น เพราะถูกนำไปต่อยอดในหลายอุตสาหกรรม เช่น ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ (TraceThai) และการเลือกตั้งในองค์กรของ BITKUB 

จากบิตคอยน์สู่คริปโตเคอร์เรนซี

Photo credit: Crypto Insiders

เมื่อการมีอยู่ของบิตคอยน์เริ่มเปลี่ยนแปลงการเงินยุคดั้งเดิมไปทีละนิด มันจึงถูกขนานนามให้เป็น ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัลสกุลแรกของโลก และทำให้เกิดคริปโตเคอร์เรนซีสกุลเงินอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น Dogecoin, Ethereum, Binance, Solana, NEAR, Cardano เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ขับเคลื่อนอยู่บนบล็อกเชนของตัวเอง

โดยสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ นั้น จัดเป็นคริปโตประเภท Fungible Token คือ ทรัพย์สินที่สามารถหามาทดแทนกันได้ เช่น ถ้าเพื่อนยืมบิตคอยน์ของเราไป เขาก็สามารถโอนบิตคอยน์ของตัวเองมาคืนเราได้ เพราะมีมูลค่าเท่ากัน และเป็นเหรียญที่หน้าตาเหมือนกัน อยู่บนบล็อกเชนเดียวกัน เป็นต้น

Photo credit: Binance Exchange

NFT อยู่ตรงไหนของระบบการเงินไร้ตัวกลาง?

ในเมื่อบิตคอยน์เป็นส่วนหนึ่งของคริปโต แล้ว ‘NFT’ ล่ะ? NFT เองก็จัดเป็นคริปโตประเภทหนึ่ง แต่มีคุณสมบัติต่างจากสกุลเงินดิจิทัลทั่วไป เพราะชื่อเต็มของมันคือ Non-Fungible Token หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นคริปโตที่มีไว้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ด้วยความที่มันมีเพียงหนึ่งเดียว และหามาทดแทนกันไม่ได้ มันเลยจะออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย มีม เพลง วิดีโอ ไอเทมในเกม เหรียญที่อินฟลูเอนเซอร์ใช้แจกแฟนคลับเพื่อแลกกับสิทธิพิเศษ เป็นต้น

Photo credit: Aii NFT

แต่อย่างไรก็ตาม การครอบครอง NFT ยังคงต้องพึ่งพาคริปโตแบบ Fungible Token อยู่ ดังนั้น ในแพลตฟอร์มการซื้อ-ขาย NFT เช่น Opensea, Foundation, Paras, Bitkub จึงมีข้อกำหนดให้ใช้สกุลเงินดิจิทัลต่างๆ สำหรับทำธุรกรรมเกี่ยวกับ NFT ตั้งแต่การลงขาย NFT ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของ NFT ชิ้นนั้นๆ

โดยเงินดิจิทัลที่สามารถใช้บนแพลตฟอร์ม NFT ต่างๆ จะมาจากขั้นตอนดังนี้ 

  • นำเงินที่จับต้องได้ (เงิน Fiat) เช่น เงินบาท ดอลลาร์สหรัฐ เยน วอน ฯลฯ ไปแลกเปลี่ยนเป็น Fungible Token ที่แพลตฟอร์มเหล่านั้นรับรอง ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เช่น BITKUB, Zipmex, SCBS หรือนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) เช่น Coins TH, Bitazza, XSPRING Digital
  • นำเงินที่ได้มาเก็บไว้ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
  • ผูกกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์กับแพลตฟอร์มต่างๆ ก่อนเริ่มทำธุรกรรม ถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน 

บทส่งท้าย 

เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น เราสามารถจัดกลุ่มตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้ดังนี้

ทั้งนี้ การมีอยู่ของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการเงินในยุคปัจจุบัน ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนการเงินดั้งเดิมได้ 100% เพราะค่าเงินคริปโตยังมีความผันผวนที่สูง และถูกจัดให้เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ผู้ที่จะก้าวเข้าสู่วงการนี้ต้องทำความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นๆ ให้ดีก่อน และควรมีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง เพื่อพร้อมเผชิญกับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการลงทุน

อ้างอิง

Krungsri

PPTVHD36

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135

Thai Digital Asset