Culture

ถอดบทสนทนา บทเรียนเรื่องธุรกิจความยั่งยืน กับทะเลจร รองเท้าประจำ ปัตตานี

เมื่อสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ลงทุกที จนทำให้เกิดคำว่าโลกเดือด (Global Boiling) ‘ความยั่งยืน’ หรือ Sustainability จึงได้กลายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เริ่มมองหา และมีความต้องการกันมากขึ้น เพราะมันไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนด้วย

โดยสิ่งที่มักจะถูกพูดถึงเป็นอันดับแรกๆ คือ การอุดหนุนสินค้าที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว ทุกวันนี้เราเลยจะได้เห็นแบรนด์ที่ขายสินค้ารักษ์โลกเกิดขึ้นใหม่มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน แบรนด์เก่าๆ ก็มีหายไปบ้าง นั่นจึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สินค้า Recycle หรือ Upcycling ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนจริงหรือไม่ และต้องทำอย่างไรโมเดลธุรกิจแบบนี้ถึงจะดีกับผู้ซื้อ และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผู้ขายจะไม่เจ๊งไปเสียก่อน

วันนี้เราชวนทุกคนถอดบทเรียนจากการสนทนากับ ‘ดร.อาร์ม’ – ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้ง ‘ทะเลจร’ (Tlejourn) แบรนด์รีไซเคิลขยะรองเท้าจากทะเล ให้เป็นรองเท้าคู่ใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม ซึ่งเดินหน้ามากว่า 7 ปีแล้ว

ก้าวแรกของทะเลจรเริ่มจากอะไร?

มันเริ่มจากการหาเรื่อง (หัวเราะ) คือผมไปขอขยะทะเลจากกลุ่ม Trash Hero มามากเกินไป เพราะเราทำวิจัยเกี่ยวกับขยะอยู่ก่อนแล้ว พอวิจัยจบ ขยะก็ยังเหลืออยู่ ตอนนั้นเขาให้ขยะที่เป็นรองเท้ากับเรามา 100,000 ข้าง ซึ่งถ้าจะเอาไป Upcycling ต้องใช้เงินประมาณ 2,000,000 บาท เลยเริ่มเป็นปัญหา เพราะเราไม่มีทุน

แต่บังเอิญว่าช่วงนั้นผมถูกเชิญให้ไปพูดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่งาน One Young World พอดี แล้วเขาขอให้ส่งเด็กไปลงแข่งประกวดแผนธุรกิจด้วยทีมหนึ่ง เลยมีโอกาสได้หาทางออกให้ขยะรองเท้ากองนั้น ด้วยการเอามาทำเป็นรองเท้าใหม่ เพราะผมเป็นอาจารย์สอนสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มอ. มีทักษะทางด้านนี้

กว่าจะเป็นรองเท้าทะเลจรสักคู่ต้องทำอะไรบ้าง?

ขยะรองเท้า 90% เราได้มากจาก Trash Hero ทั่วประเทศ และ Trash Hero Pattani ที่เราตั้งขึ้นเอง ส่วนอีก 10% มาจากการที่คนอื่นรวบรวมส่งมา ซึ่งเมื่อได้มาก็จะคัดแยกเฉพาะที่ใช้ได้ คือ รองเท้าแตะพื้นนิ่ม พื้นรองเท้าวิ่ง แล้วนำมาเข้ากระบวนการขึ้นรูป ก่อนจะส่งต่อไปประกอบเป็นรองเท้าแตะ โดยกลุ่มแม่บ้าน ต.คลองมานิง จ.ปัตตานี

“ทะเลจรเราทำ 3 อย่าง คือ แก้ไขปัญหาขยะทะเล แก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้าน และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายจะได้เงินเหมือนกัน รองเท้าเราคู่ละ 399 บาท มากจากการที่เราจ่ายค่าแรงทำรองเท้าและถุงผ้าให้กลุ่มแม่บ้านคู่ละ 270 บาท และให้ตัวแทนจำหน่ายที่ช่วยสร้างการรับรู้ให้ผู้ซื้ออีก 129 บาท”

นานไหมกว่าที่ขยะ 100,000 ข้างแรกจะหมดไป?

รองเท้าคู่หนึ่งใช้ขยะรองเท้าแค่ 10 ข้าง เพราะฉะนั้นเราต้องขายตั้งหมื่นคู่ถึงจะหมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเราในตอนนั้น แต่บังเอิญว่าพอทำมาสัก 2-3 ปี ก็ได้ร่วมทำโปรเจกต์รองเท้า KHYA กับนันยาง เลยทำเราใช้ขยะหมดในรอบเดียว

วันนี้ทะเลจรช่วยคนและสิ่งแวดล้อมไปมากแค่ไหนแล้ว?

เราขายรองเท้าไปแล้วประมาณ 55,000 กว่าคู่ ถ้าคิดเป็นตัวเงินเงินก็คูณ 399 เข้าไป แต่ว่าในวงการธุรกิจเพื่อสังคมเนี่ย มันมีมาตรวัดอันหนึ่งที่เรียกว่า Social Return on Investment (SROI) ของทะเลจร มี 1:11 หมายความว่าทุกบาทที่เราลงทุนไป ก็จะได้โซเชียลรีเทิร์นเป็น 11 บาท

และถ้าถามว่าช่วยลดขยะไปเท่าไหร่ก็ค่อนข้างชัดเจน เพราะขยะ 10 ข้าง เราได้รองเท้าแตะ 1 คู่ และในการเก็บขยะแต่ละครั้ง เราไม่ได้เก็บแค่รองเท้า เราเก็บทั้งหมดที่เป็นขยะ ซึ่งขยะ 10 กก. เราจะได้รองเท้าแตะ 1 กก. หรือประมาณ 10 ข้าง เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าขายไป 55,000 บาทคู่ หรือ 550,000 ข้าง ก็คือเก็บขยะไปแล้ว 5 ล้านกว่ากิโลกรัม

เคยคิดไหมว่าจากโปรเจกต์เล็กๆ ในวันนั้น จะยั่งยืนมาถึงวันนี้?

ก็คิดนะว่า เราคิดแบบนั้นตลอด แต่ในแง่ของความยั่งยืนนะ ไม่ใช่แง่ของปริมาณขยะ (หัวเราะ) เพราะเราพยายามทำให้ธุรกิจมันลีนที่สุด ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด คือ มีเครื่องที่พร้อมผลิตรองเท้าได้ตลอดเวลา และไม่มี Fixed Cost อย่างอื่น

ตอนประกวด One Young World เราเคยเคยโดนโจมตีในเรื่องนี้ เพราะเขามองว่าที่มาของวัตถุดิบเราไม่ยั่งยืน ขยะมันได้มาฟรี ถ้าถึงวันหนึ่งขายดีมาก อาจต้องจ้างคนไปเก็บขยะ แต่ผมยืนยันว่าไม่อยากตั้งมูลค่าให้ขยะพวกนั้น เพราะคนที่มาเก็บขยะล้วนเป็นจิตอาสา และถ้าเรามองความยั่งยืนในรูปแบบที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นตัวเงิน มันเหมือนการส่งเสริมให้มีคนจนอยู่ในระบบ เพราะต้องมีคนจน และต้องจนเพียงพอที่จะต้องยอมเก็บขยะมาขายให้เรา ผมไม่เชื่อว่าระบบแบบนี้จะถูกต้อง

“ธุรกิจเรามัน Zero Profit รายได้ทั้งหมดก็นำกลับไปแก้ไขปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อม และความยากจนของชาวบ้านในปัตตานี ซึ่งเราไม่มี Fixed Cost มันเลยจะไม่มีวันเจ๊ง เว้นแต่จะเลิกทำ คือผมพยายามจะสร้าง Business as unusual ประมาณหนึ่ง และที่มันมาถึงวันนี้ได้ เพราะถูกคนที่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ช่วยกันกลิ้งมันไป ซึ่งการที่เราสามารถสร้างบรรยากาศอะไรบางอย่าง เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ ผมว่านี้คือคำว่าความยั่งยืน หรือ Sustainability”

อาจารย์มองว่าทะเลจรเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนแล้วหรือยัง?

ผมไม่อยากใช้คำว่าแก้ปัญหานะ เรียกว่าเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่ช่วยบรรเทาปัญหาดีกว่า คนที่ทำธุรกิจรีไซเคิลเป็นเรื่องที่ดี แต่มันมีหลายอย่างที่จะต้องคิด เช่น สินค้าที่กำลังจะสร้างขึ้นมา มันจำเป็นต้องสร้างใหม่จริงไหม ถ้าจำเป็น มันมีสัดส่วนของวัสดุรีไซเคิลมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ด้วยหรือไม่

กว่า 7 ปีที่ผ่านไป เป้าหมายของทะเลจรยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไป?

เรายังคงมีเป้าหมายเหมือนเดิม คือ วันหนึ่งขยะจะไม่มีให้เก็บ ทะเลจะสะอาด แล้วเราก็เลิกทำทะเลจร แต่ในขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่าขยะมันหมดยาก แล้วก็ไม่มีวันหมด ดังนั้นเรายินดีให้ความรู้กับทุกคนที่ต้องการแบบฟรีๆ เพื่อให้เขาไปแก้ไขปัญหาในบ้านตัวเอง เราไม่อยากเห็นภาพของการ Waste Trade ส่งขยะข้ามโลกไปมา แต่เราอยากให้เป็นไปในทิศทางที่ว่า ใครมีปัญหาที่ต้องจัดการที่ไหนก็จัดการที่นั่น ทุกที่ควรมีทะเลจรเป็นของตัวเอง

“การจะทำธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ที่สร้างความยั่งยืนได้ เราต้องมีแพสชั่นในการอยากแก้ไขปัญหาอย่างเพียงพอ แล้วค่อยเอาโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเข้ามาจับว่าเราจะเดินต่อไปยังไง ถ้าทำแบบนี้ได้ ธุรกิจก็จะยั่งยืนด้วยตัวมันเอง"

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาขยะทะเล ด้วยการอุดหนุนรองเท้าทะเลจรได้ที่

Ecotopia สยามดิสคัฟเวอรี่, ร้าน It's going green และตัวแทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

หรือเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ได้ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Tlejourn : ทะเลจร ได้ที่

Website: tlejourn.org

Facebook: Tlejourn : ทะเลจร

Instagram: tlejourn