Culture

เรียนรู้เรื่องราว White Spirit ผ่านมุม ‘นิ้ม Sabye-Sabai’

ไม่รู้ว่านานแค่ไหนแล้วที่ White Spirit หรือเหล้าขาว ที่ผลิตในประเทศไทย ถูกผูกติดภาพจำอยู่กับการเป็นเครื่องดื่มของคนเฒ่าคนแก่ และคนใช้แรงงาน ในขณะที่เหล้าขาวของต่างชาติ เช่น วอดก้า เตกีล่า จิน ฯลฯ กลับกลายเป็นที่นิยมของนักดื่มชาวไทย และถูกมองว่าเป็นเหล้าชั้นดีของคนเมือง ทั้งๆ ที่เป็นเหล้าขาวด้วยกันทั้งนั้น ทำให้ก่อนหน้านี้ White Spirit เหมือนจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

เมื่อมีโอกาสได้ทำเรื่องวัฒนธรรมการดื่มของคนไทย ผู้เขียนเลยตั้งใจที่จะชวนคนทำ White Spirit รายย่อย มาพูดคุยกันถึงมุมมองในเรื่องการทำธุรกิจ การสนับสนุนของภาครัฐ วัฒนธรรมการดื่ม และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราเกริ่นไปเมื่อตอนต้นให้มากขึ้น โดยได้รับการตอบรับจาก ‘นิ้ม’ – ธนธัส ภิรมย์ชาติ จากแบรนด์ Sabye-Sabai (อ่านว่า สบาย-สบ๊าย) สุราชุมชนรูปแบบ White Spirit หนึ่งในของดีจากจังหวัดปราจีนบุรี

ทำความรู้จัก Sabye-Sabai

Sabye-Sabai เป็น White Spirit สัญชาติไทย ที่มีต้นแบบมาจากโชจูญี่ปุ่นในถิ่นโอกินาว่า มีโรงผลิตอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี และใช้น้ำตาลอ้อยไทยคุณภาพสูงเป็นวัตถุดิบหลัก ริเริ่มและก่อตั้งโดยคุณโยชิโอะ โซะซาวา ชายชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเมื่อปี 2549 และแต่งงานกับภรรยาชาวไทย แต่ปัจจุบันได้ส่งมอบให้คุณนิ้มดูแลต่อ

โยชิโอะ โซะซาวา / นิ้ม – ธนธัส ภิรมย์ชาติ

คุณนิ้มเล่าว่า ชื่อสบาย-สบ๊าย มาจากความผิดพลาดทางการสื่อสารขณะจดทะเบียนกับกรมสรรพสามิต เพราะคุณโยชิโอะพูดภาษาไทยไม่ชัด จากชื่อเพลงสบายสบายของพี่เบิร์ด เลยกลายเป็นสบาย-สบ๊าย ที่ออกเสียงยาก (มาก) แบบทุกวันนี้ แต่ก็มีข้อดีตรงที่เวลาคนสนใจชื่อ แล้วเข้ามาถาม ก็จะมีโอกาสได้คุยเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมไปด้วย

Sabye-Sabai กับการเป็น White Spirit ที่แตกต่าง

“มันเป็น White Spirit ที่ถ้ากินแล้วจะรู้สึกว่ากลิ่นมันญี่ปุ๊นญี่ปุ่น คือกลิ่นตามธรรมชาติ ไม่ฉุน ไม่มีการแต่งกลิ่นเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้เหมือนกับต้นฉบับที่ญี่ปุ่นซะทีเดียว เพราะตามแบบญี่ปุ่นเขาจะประมาณ 25 ดีกรี แต่ประเทศไทยไม่มีอากรแสตมป์นี้ เลยต้องขยับมาทำเป็น 28 ดีกรีแทน และพอเทียบกับสุราชุมชนในหลายๆ ที่ มันก็จะค่อนข้างโดดเด่นขึ้นมา และกลายเป็นที่สนใจของนักดื่ม ทั้งกับคนที่ชอบกินเพียวๆ และกินผสมค็อกเทล เพราะส่วนใหญ่เขาจะทำ 40 ดีกรี ตามพื้นฐานของคนไทยที่ชอบกินแบบเข้มๆ และเทรนด์ผู้ผลิตก็นิยมแต่งกลิ่นให้หลากหลายแต่ตัวนี้มันไม่ได้แต่งกลิ่น”

White Spirit กับการถูกแบ่งชนชั้นในอดีต

เมื่อก่อน White Spirit หรือเหล้าขาวบ้านเราเนี่ย ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแค่เหล้าที่คนแก่กินนะ แต่คือกรรมกรเลยแหละ เพราะไทยสร้างมิติของเหล้าขาวมาในเกรดที่ต่ำขนาดนั้นมานาน ดูแพ็คเกจจิ้งสิ ขวดสีน้ำตาล มีสลากสีๆ แปะ โคตรเถื่อนเลย (หัวเราะ) ดังนั้นกลุ่มคนเมืองหรือคนที่ไม่ใช่กลุ่มที่เราเพิ่งพูดถึง ส่วนใหญ่ก็จะห่างไกลจากเหล้าขาวไทยอยู่แล้ว แต่จริงๆ เราไม่ได้ห่างไกลจาก White Spirit อื่นๆ เลย เพราะเวลาเข้าผับ เรากินเตกีล่า วอดก้า หรือจิน กันเป็นปกติ คือเรากินตัวนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าพอเป็นเหล้าขาวของไทย เราไม่กิน เราอี๋ เป็นเพราะถูกปลูกฝังมาโดยที่ไม่รู้ตัวมาตลอด ทั้งๆ ที่ White Spirit ทั่วโลกเขาก็เรียกว่าเหล้าใส หรือเหล้าขาวเหมือนกันหมด

Sabye-Sabai เหมือนมาช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ White Spirit ที่ผลิตในไทย?

มันถูกเปลี่ยนไปในแง่มุมที่ทำให้คนเข้าใจมากขึ้นมากกว่า ว่าความจริง White Spirit มันก็เหมือนของต่างประเทศที่หลายคนเคยกินกันนั่นแหละ แต่แค่มันเป็นของไทย ถูกหมักมาจากวัตถุดิบดีๆ ในประเทศ มันถึงมีราคาที่เหมือนของต่างประเทศได้ และใครๆ ก็กินได้ ไม่ใช่เครื่องดื่มที่จำกัดไว้แค่ชนชั้นแรงงาน

เทรนด์นักดื่มในวันที่หันมาสนับสนุนสุราชุมชนกันมากขึ้น

เมื่อสุราชุมชนอย่าง Sabye-Sabai และอีกหลายแบรนด์ช่วยกันเปลี่ยนภาพลักษณ์ White Spirit  ไปในทิศทางที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำรอยอดีต ประกอบกับกระแสแบนนายทุนผูกขาด ก็ได้ทำให้เทรนด์ของนักดื่มเปลี่ยนไปด้วย

“ตอนนี้ White Spirit มันเป็นกระแสขึ้นมาในแง่ของการช่วยสนับสนุนสุราชุมชน ก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเวลามีอะไรแบนี้ คนไทยก็รู้สึกตื่นเต้น ทำให้เกิดนักชิม หรือนักทดลองดื่มหน้าใหม่ทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น ส่วนคนที่เป็นนักดื่มอยู่แล้ว เขาก็เปิดรับที่จะดื่มของไทยกันมากขึ้น ส่วนต่างชาติเขาก็รู้สึกตื่นเต้น และอยากมาดื่ม ก็เป็นโอกาสให้คนทำธุรกิจรายย่อยได้พัฒนาสินค้า และวิธีการนำเสนอของตัวเอง”

“สุราชุมชนมันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ เพราะทำให้เกิดการจ้างงาน การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบต่างๆ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะคนทำธุรกิจรายย่อยก็คงไม่มีวันที่จะไปแข่งกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้อยู่แล้ว เขาแค่อยากอยู่ได้ในแบบที่มันโอเคก็พอ” คุณนิ้มกล่าว

ความยากของการทำสุราชุมชนในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม แม้มุมมอง ความคิด และเทรนด์ของนักดื่มจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีต่อคนทำสุราชุมชน แต่การทำธุรกิจก็ยังมีเรื่องที่ยากอยู่ โดยเจ้าของ Sabye-Sabai อย่างคุณนิ้มแชร์ว่า

“มี 2 เรื่องที่ผมมองว่ายาก คือการผลิต และการทำตลาด เพราะการจะตั้งโรงผลิตสุราขึ้นมา ต้องได้เอกสารสิทธิ์จากหน่วยงานราชการหลายแห่ง และถ้าจะวางขายได้ก็ต้องมีอากรแสตมป์ มันต้องใช้เวลา ซึ่งหน่วยงานไทยทำงานช้ามาก ยิ่งตอนนี้หลายคนแห่มาทำธุรกิจนี้มากขึ้น หน่วยงานก็ยิ่งเข้มงวดขึ้น เรื่องเอกสารก็ยิ่งยุ่งยากและช้าเข้าไปอีก แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้โรงงานที่ไม่ค่อยได้มาตรฐานถูกควบคุม และนักดื่มก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย แต่ก็ต้องบอกว่าทุกวันนี้ยังมีสุราอีกมากที่ยังไม่ได้อากรแสตมป์ถูกวางขายในตลาด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดันไปเข้มงวดกับเจ้าที่เขาทำถูกต้องอยู่แล้ว และละเลยเจ้าอื่น เหมือนหูตาแคบ เพราะไม่เคยออกไปดูเลยว่าในตลาดจริงๆ เป็นยังไง

ส่วนเรื่องของการทำตลาด ยากในเรื่องของการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อทำให้คนรู้จักตัวสินค้าให้มากขึ้น ที่ทำแทบไม่ได้เลย เพราะถ้าพลาดขึ้นมามันไม่ใช่แค่โดนปรับ แต่อาจเสี่ยงที่จะโดนระงับใบอนุญาต ฉะนั้นช่องทางหลักที่ทำง่ายที่สุดคือการไปออกบูธ เพื่อทำให้แบรนด์มีตัวตน เมื่อคนได้เจอเรา เขาจะเกิดการบอกต่อ”

แต่ถ้าอยากเริ่มทำสุราชุมชนบ้างก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น

ทุกวันนี้คนที่ทำสุราชุมชนส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือคนที่รับช่วงต่อจากครอบครัว และคนที่ทำเป็นธุรกิจที่สอง ดังนั้นก็คงจะไม่ได้ผลิตเป็นล็อตใหญ่เหมือนแบรนด์ใหญ่ๆ ถ้าจะเริ่มทำก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะวิธีทำก็เรียนรู้เอาได้ และสูตรก็มาจากความชอบของตัวเอง ยิ่งตอนนี้กระแสคนสนับสนุนเยอะด้วย แต่ก็อยากให้โฟกัสกับคุณภาพของสินค้า และสตอรี่ความเป็นมาของสินค้าด้วย อย่าโฟกัสแต่แพ็กเกจจิ้งอย่างเดียวเพราะตอนนี้หลายแบรนด์หน้าตาเริ่มเหมือนกันไปหมด เริ่มขาดอัตลักษณ์

ส่งท้ายด้วยเทคนิคดื่ม White Spirit ให้อร่อย

หลังจากที่พูดคุยกันพอสมควรจนทำให้เราเข้าใจอะไรหลายอย่างมากขึ้นแล้ว ในฐานะนักดื่มและผู้ประกอบการ เราเลยให้คุณนิ้มแนะเทคนิคการดื่ม White Spirit ทิ้งท้ายด้วย เผื่อให้ชาว EQ ได้ลองนำไปปรับใช้กัน

“แต่ละคนอาจมีวิธีไม่เหมือนกัน แต่ผมว่าถ้ากินทีละนิดๆ หรือกลั้วในปากแบบกินไวน์ จะทำให้รสชาติมันยิ่งน่ากลัวมากขึ้น เพราะ White Spirit มันถูกสร้างเพื่อให้กินเข้าปากแล้วไหลลงคอรวดเดียว แล้วค่อยสัมผัสกับความอร่อย และความหอมของมัน หรือจะกินสนุกๆ แบบบผสมค็อกเทลก็ได้ ผสมนู่นนี่เพื่อทำให้เครื่องดื่มมีความหลากหลาย กลายเป็นอะไรที่เจ๋งมากขึ้น”

FYI: โซจู White Spirit เกาหลี จะใช้วัตถุดิบเป็นธัญพืชหลายชนิดในการทำ ส่วนโชจู White Spirit ญี่ปุ่น จะใช้วัตถุดิบเพียงอย่างเดียว เช่น อ้อย ข้าว เป็นต้น ซึ่งโชจูเป็นวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นได้รับมาจากเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำมาดัดแปลงให้เป็นแบบฉบับของตัวเอง