Art

อา ยา อี ย่า อะคะลี้ละบัตเตอร์ฟลาย ไขข้องใจ ทำไมมือถือของเล่นเด็กจากจีนถึงต้องมีเพลงนี้?

ถ้าพูดถึงของเล่นจีนสมัยยุค 2000 หลายๆคนคงคุ้นเคยกับเจ้ามือถือบาร์บี้, สไปเดอร์แมน หรือลายการ์ตูนประหลาดๆ ที่มาพร้อมกับเพลงคุณภาพเสียงห่วยๆ “อา ยา อี ย่า อะคะลี้ละบัตเตอร์ฟลาย” “นาดีฟูบัตเตอร์ฟลาย” หรือแล้วแต่ละคนจะสร้างประสบการณ์จำลองเสียงในหัวขึ้นมาเป็นเนื้อเพลงใหม่ในภาษาตัวเอง(Sound Pareidolia) ซึ่งไอ้เพลงที่ว่านี้ก็คือเพลง Butterfly จากศิลปินชาวสวีเดน Smile.dk ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 1998 แล้วทำไมมือถือของเล่นจากจีนถึงมีเพลงเพลงนี้แทบทุกเครื่อง (จนถึงวันนี้ยังมีอยู่เลยมั้ง) วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบภายใต้เบื้องหลังสุดอิหยังวะนี้ไปด้วยกัน

ก่อนอื่นขอพูดถึงประวัติของวง “Smile.dk” นิดหน่อย Smile.dk ถูกก่อนตั้งในช่วงปี 1998 โดย Veronica Almqvist และ Nina Boquist ในประเทศสวีเดน โดยใช้ชื่อวงและชื่ออัลบั้มแรกสั้นๆว่า Smile ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น จนทำให้เพลง Butterfly เพลงแรกจากอัลบั้มถูกเซ็นสัญญาผ่านค่ายเกมยักษ์ใหญ่ Konami เพื่อเปิดตัวเกมเต้นชื่อดังอย่าง Dance Dance Revolution จนทำให้ Smile.dk ดังเป็นพลุแตกเข้าไปใหญ่ โดยหลังจากที่ Boquist ได้ออกจากวง Smile ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Smile.dk เนื่องจากเริ่มตีตลาดในประเทศเดนมาร์กในเวลานั้น จนดังเปรี้ยงปร้างไปทั่วโลกแบบฉุดไม่อยู่ ซึ่งแน่นอนว่าพี่จีนเราคงไม่พลาดที่จะหยิบเพลงนี้ และเพลง euro beat อื่นๆ มาบรรจุลงในของเล่นคุณภาพต่ำ แต่ด้วยราคาที่ใครก็จับต้องได้จึงทำให้ของเล่นจากจีนแพร่ระบาดไปทุกที่บนโลก

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมต้องเป็นเพลง Butterfly อ้างอิงจากแชแนล Youtube : Ryychi และ China Tech ได้ต้ังข้อสันนิษฐานว่า เป็นเพราะหลายๆ เพลงที่ถูกนำมาใช้ในของเล่นจีนนั้น มาจาก CDs Compliation ของเพลงที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศจีนและเป็นผู้ผลิตชิปเสียงของเล่น ซึ่งส่วนมากจะเป็นเพลงดังที่ถูกนำมา cover หรือ remix ใหม่ ทำให้หาต้นฉบับได้ยาก (หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่รู้ว่ามันดังนั่นแหละ) โดยทางผู้ผลิตคิดว่าการที่นำเพลงที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนั้นมาใช้ จะได้ทำให้ไม่มีปัญหาทางด้านลิขสิทธ์ใดๆ ตามมา ส่วนที่ต้องใช้เพลงป็อปในช่วง 90’s นั้น เพราะดนตรีที่สนุกสนาน เหมาะกับของเล่นพวกนี้ และโรงงานของเล่นกับโรงงานผลิตชิปเสียงนั้นก็เป็นคนละบริษัทกัน ยกตัวอย่างเช่น บางโรงงานจะซื้อชิบเสียงมาเป็นจำนวนมาก เพื่อบรรจุเข้ากับของเล่นที่ซื้อแยกต่างหากอีกที จากการคาดเดาของแชแนล China Tech เพลง Butterfly ได้บอกว่าน่าจะเป็นเพลงที่ถูกใช้ผลิตเพื่อทำชิปเสียงเป็นจำนวนที่เยอะมากๆ และมีราคาถูกกว่าเจ้าอื่น จนทำให้หลายๆโรงงานเลือกที่จะเหมาเพลงนี้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และที่ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทของเล่นพวกนี้ มักจะเปลี่ยนชื่อแทบจะทุกครั้งหลังจากวางขายของเล่นแต่ละชิ้น เพื่อไม่ให้โดนจับได้และทำให้สินค้ามีความหลากหลาย ซึ่งจริงๆ มันก็คล้ายๆ กันไปหมดแหละ ไม่ว่าจะทั้งดีไซน์และบรรจุภัณฑ์ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงได้ยินเพลงเหล่านี้ในของเล่นจีนแทบทุกชิ้น

หลังจากรู้ที่มาที่ไปแล้ว ทุกคนคงจะนึกเมโลดี้หลายๆ เพลงดังที่ถูกใส่ไว้ในของเล่นจีนออก แต่ถ้าอยากรู้ว่ามีเพลงอะไรอีกบ้างที่อาจจะคุ้นหู สามารถรับฟังได้ที่ Playlist Sound of Chinese toys ใน Spotify profile : exotic quixotic หรือตามลิงก์นี้ได้เลย https://open.spotify.com/playlist/7IYTByQfmCYVkYVBSJg5DI?si=0137a7bad3164c04

References

https://www.youtube.com/watch?v=H4C_oeQ7ALg&t=228s

https://www.youtube.com/watch?v=BfSDCsRg7tw&t=564s