Art

Painting the Passion: เส้นทางศิลปินที่ยืดหยุ่น ซับซ้อน และสวยงามของ ‘ทราย ดมิสา’ และการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งกับ Lotus Arts De Vivre

งานศิลปะเป็นสิ่งสวยงามที่ไร้ขอบเขต หรืออีกนัยหนึ่งโลกแห่งศิลปะก็อาจจะเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เราได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ วันนี้ EQ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโลกแห่งศิลปะบนเส้นทางการเป็นศิลปินรุ่นใหม่ของ ‘ทราย’ – ดมิสา วนาสวัสดิ์ นักศึกษาศิลปะชาวไทย ในมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Rhode Island School of Design และเธอยังเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้จัดแสดงผลงานร่วมกับ Lotus Arts De Vivre พร้อมผลงานคอลแลบฯ สุดเอ็กซ์คลูซีฟอีกด้วย

Painting Her Own Path

“Painting เป็นสิ่งที่ทรายทำมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ” ทรายเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะของเธอ “ตอนเด็กๆ คุณแม่ก็จะให้กระดาษกับดินสอไม้ หรือสีเมจิก เหมือนให้เราเล่นเรื่อยๆ อาจจะเป็นตอนรอกินข้าว แล้วคุณแม่ก็สังเกตว่า ทรายเอ็นจอยกับมัน ก็เลยให้เล่นมาเรื่อยๆ พอโตขึ้นอีกนิดหนึ่งก็พาไปเรียนศิลปะวันเสาร์-อาทิตย์ ยิ่งทำไปก็ยิ่งชอบขึ้นเรื่อยๆ”

ความจริงจังในด้านศิลปะของทรายค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อเจ้าตัวเข้าสู่วัยมัธยม

“ช่วงมัธยมจริงจังมาก คืออยากทำให้งานชิ้นหนึ่งออกมาได้ดีที่สุด ไม่ได้คิดเลยว่าชิ้นนี้ต้องส่งไปมหาวิทยาลัย แค่อยากให้ชิ้นนี้ที่อยู่ข้างหน้ามันออกมาได้ดีที่สุด มีความสวยงาม มีความลึกซึ้ง และซับซ้อน”

ก้าวเข้าสู่วัย 17 ปี โอกาสสำคัญของเธอก็เข้ามา เมื่อเธอได้จัดแสดงผลงานศิลปะครั้งแรกร่วมกับ Lotus Arts De Vivre “จริงๆ ส่วนตัวทรายไม่เคยรู้จักแบรนด์เลยค่ะ แต่ว่าเคยเห็นร้านที่โรงแรมมาตลอด คุณแม่ก็เคยเข้าไปดูในร้าน เป็นลูกค้า แล้ววันหนึ่งทรายจะต้องส่งพอร์ตให้มหาวิทยาลัยพอดี คุณแม่ก็ไปถามร้านว่า ขอเอารูปมาวางที่ร้านถ่ายสวยๆ ได้ไหมคะ เหมือนขออนุญาตร้าน แล้วร้านก็บอกว่า ได้ เอามาเลย เพราะตอนนั้นทรายทำปฏิทินให้ทางบริษัทคุณพ่อทุกปีอยู่แล้ว ที่จะเอา 12 รูปที่ทรายวาดมาลงปฏิทิน แล้วทางร้านก็เห็นปฏิทินนั้นมา 1-2 ปีแล้วค่ะ พอเขาเห็นงานของทรายจริงๆ ก็เลยชวนมาแสดงงานด้วยค่ะ”

นั่นคือส่วนหนึ่งของผลงานที่ทำให้เธอได้ก้าวเข้าสู่ Rhode Island School of Design แต่กว่าจะถึงจุดนั้น เธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองไม่น้อยเช่นกัน เพราะเธอคือทายาทคนเดียวของบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ ชีวิตของเธอจึงเดินมาถึงทางแยก เมื่อเธอต้องตัดสินใจว่าจะเดินสายธุรกิจ หรือสายศิลปะ

“ตอนม.ปลาย พอคิดถึงเรื่องมหาวิทยาลัยว่าจะเข้าคณะอะไร ตอนนั้นไม่รู้เลยค่ะ แล้วตอนนั้นทำอยู่แค่เรียนตามวิชาของโรงเรียน แล้วก็ทำงานศิลปะ แค่ 2 อย่างนี้ ก็เลยคิดว่า มีอยู่ไม่กี่ทางเลือกค่ะ ไปศิลปะเลย หรือว่าจะเรียนแบบกว้างๆ ก็อาจจะเรียนธุรกิจ

ตอนนั้นยื่นมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แบบ แต่สำหรับศิลปะแล้ว ยื่นไปมหาวิทยาลัยที่ท็อปที่สุดเลย เพราะถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยศิลปะที่ท็อปแล้ว มันเหมือนยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ตัวเองได้ ก็คือถ้าเข้าอันที่ดีที่สุดไม่ได้ ก็จะมาสายธุรกิจหรืออะไรคล้ายๆ นั้นแทน

พอรู้อย่างนี้แล้วก็เลยยิ่งซีเรียสกับงาน กดดันค่ะ ก็ทำพอร์ตไปเรื่อยๆ แต่ก็โชคดีมากที่ช่วงนั้นร้าน Lotus Arts De Vivre เคยชวนทรายมาร่วมแสดงงานกับเขา ก็เลยสามารถเอางานนั้นไปใส่ในพอร์ตได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญตอนสมัครค่ะ”

ช่วงนั้นที่บ้านมีการต่อสู้กันทางความคิดบ้างไหม?

“มีค่ะ คือรู้ว่ายังไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้พูดกันตรงๆ ค่ะ ไม่ได้ทะเลาะกัน แค่รู้ในใจว่า ทรายคิดอย่างนี้นะ ป๊าคิดอย่างนี้นะ แม่คิดอย่างนี้นะ แต่พอมันยังไม่ถึงเวลาต้องไปก็ยังไม่ค่อยได้คุยกัน”

สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังของสหรัฐอเมริกาในคณะ Painting “จริงๆ คุณพ่อก็แฮปปี้ค่ะ ก่อนหน้านั้นก็ได้โรงเรียนอื่นมาแล้ว คุณพ่อก็เลยเหมือนยังไม่ได้คิดว่าทรายจะไป แต่คิดว่าตอนนั้นคุณแม่ได้คุยกับคุณพ่อไว้เยอะมากเหมือนกันค่ะ แล้วคุณพ่อก็เห็นผลงานทรายแล้ว ก็เห็นว่าได้ไปแสดงงานกับ Lotus Arts De Vivre แล้วครั้งหนึ่ง เหมือนรู้ว่า ลูกน่าจะไปรอดนะ เขาก็เหมือนวางใจลงนิดหนึ่งว่า ทรายมีหนทางที่พอไปได้ มีฝีมือที่โอเค ยังไปต่อได้”

แล้วทำไมถึงเลือกคณะ Painting?

“ก็จะเหมือนเพ้นต์มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปบนกระดาษ หรือว่าลงผ้าใบแคนวาส แล้วพอโตขึ้นก็เหมือนได้เริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะมากขึ้น ก็รู้ว่าจริงๆ แล้ว Painting ในมุมมองของที่อเมริกามันเปิดกว้างมากกว่าภาพวาดบนผ้าใบค่ะ มันสามารถมีงาน 3 มิติก็ได้ อาจจะใช้อุปกรณ์อื่นก็ได้ มันเปิดกว้างมาก เราก็เลยอยากเข้าไปเรียนในคณะนี้ ที่สามารถเรียน Painting เพียวๆ ก็ได้ หรือว่าจะทดลองอุปกรณ์มีเดียมอย่างอื่นก็ได้ด้วย”

กดดันไหม?

“นิดหนึ่งค่ะ เพราะว่าก็รู้สึกเหมือนจะต้องเหมือนพัฒนาตัวเอง แล้วก็พิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นค่ะ โดยเฉพาะคนที่อเมริกาที่ไม่รู้จักเราเลย แล้วก็คนไทยด้วยค่ะ” ทรายตอบ ก่อนอธิบายความรู้สึกตัวเองต่อว่า การได้เรียนที่นี่ทำให้เธอรู้สึกพัฒนาขึ้น “รู้สึกว่าพัฒนาในด้านคอนเซ็ปต์ค่ะ ตอนเด็กๆ ก็จะคิดว่า วาดคนให้น่าสนใจแล้วอาจจะพอ แต่ว่าตอนนี้คือ ทรายมองกว้างขึ้นนะคะเพราะว่าอาจจะไปในด้าน Landscape และ Abstract ด้วยค่ะ”

Strokes of Identity

เมื่อเห็นว่าทรายตัดสินใจเดินเส้นทางสายศิลปะอย่างจริงจัง เราจึงอยากรู้ว่างาน Painting ในสไตล์ของทรายเป็นอย่างไร?

“จริงๆ มี 2 แบบค่ะ แล้วแต่งาน บางทีก็จะมีภาพในหัวที่คิดไว้ แล้วก็จะทำ แต่พอไปถึงตรงนั้นแล้วก็เปลี่ยนไปอีกค่ะ มันจะไม่เหมือนเดิม ประมาณ 50-50 ค่ะ แล้วก็มีบางทีที่ไม่รู้เลยว่าจะวาดอะไร แต่รู้ว่าต้องวาดก็จะเริ่มด้วยการลงสีไปก่อนอ่อนๆ แล้วใช้ลายธรรมชาติของสีนั้นสร้างขึ้นมาเป็นรูป ค่อยๆ สร้างขึ้นมาจากพื้นผิว” ทรายเล่าก่อนจะยกตัวอย่างงานที่เธอเคยทำ

“คอนเซปต์ของงานนี้ก็คือ ‘เขาวงกต’ ได้คำนี้มาจากโจทย์ของคุณครูค่ะ ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะทำอะไรเลย คืออยากจะวาดสิ่งที่ดูเหมือนเขาวงกต และรู้สึกเหมือนเราอยู่ในเขาวงกต ก็เลยสร้างงานที่ใช้เทคนิคลงสีน้ำก่อน แล้ววาดจากลาย มีหลายรูปที่เป็นแบบนั้นค่ะ อันนี้ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้ค่ะ”

เป็นคนที่ทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด?

“ยังทดลองกับหลายสไตล์อยู่ อย่างที่บอกไปก็จะมีวิธีลงสีก่อน แล้วก็มีวิธีที่เหมือนมีภาพสิ่งของต่างๆ ที่เราอยากวาดในหัว จะออกมาเป็นแนว Surrealism ค่ะ ที่จะเล่นกับภาพลวงตา มิติการวางของในรูปภาพ ในแลนด์สเคป แล้วก็จะมีการวาดโดยการใช้ลายเส้นโดยเฉพาะ เหมือนเรากำหนดตัวเองว่า โอเค ภาพนี้เราต้องใช้การวาดเส้นลงไปเท่านั้น หรือภาพนี้เราให้โจทย์ตัวเองว่าจะเอาองค์ประกอบของธรรมชาติมาใส่ให้ได้เยอะที่สุด อย่างเช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องมาหมด”

ได้ฟังแบบนี้เราจึงสนใจว่าทรายเอาแรงบันดาลใจในการทำงานมาจากที่ไหน ซึ่งเธอก็ตอบว่า “น่าจะแล้วแต่ช่วงชีวิตของทราย แล้วก็โลกภายนอกที่ทรายอยู่ ตอนที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนโควิด ตอนนั้นอยู่มัธยมก็จะเจอคนเยอะ เวลาไปโรงเรียน อยู่บ้าน หรือไปเที่ยว แล้วช่วงนั้นก็จะวาดคนเยอะมาก” ก่อนจะเสริมว่าสถานที่มีผลต่อการทำงานของเธอค่อนข้างเยอะ “ทรายเป็นคนค่อนข้างเซนซิทีฟต่อสิ่งแวดล้อม ซึมซับมาเยอะค่ะ เหมือนตอนปิดเทอมพอกลับมาที่นี่ ก็จะวาดตึกเยอะ แต่ไปที่นู่น (อเมริกา) ก็ไม่ได้วาดค่ะ เหมือนด้วยสถานที่ของมหาวิทยาลัยมันมีธรรมชาติค่อนข้างเยอะค่ะ แล้วก็มีฤดูกาล พอไปอยู่ที่นู่นก็เลยชอบในการสัมผัสประสบการณ์อันนั้น ก็เลยเปลี่ยนมาใช้องค์ประกอบธรรมชาติมากกว่า เป็น Landscape เป็น Abstract”

เมื่องานของทรายมีความยืดหยุ่น และซับซ้อน เราจึงอยากรู้ว่า อะไรคือลายเซ็นในงานของเธอ ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบเราว่า จริงๆ เธอเองก็ไม่รู้เหมือนกัน

“ต้องคอยฟังคนอื่น เหมือนหลายคนบอกว่าเป็นการใช้สีค่ะ ทรายใช้สีในรูปหนึ่งค่อนข้างเยอะ แล้วความหลากหลายของสีมันเยอะค่ะ เหมือนสีเหลืองก็ใช้หลายเฉดมาก ถึงแม้ว่าในรูปมันมีสีเหลืองแค่นิดเดียว เพราะว่ามันจะเกิดความลึกขึ้นเวลาเราใช้สีซ้อนกันเยอะๆ แล้วก็จะเน้นเรื่องคอนทราสต์ขาวกับดำค่อนข้างเยอะค่ะ แล้วก็สีฟ้าหนักมาก”

ได้ฟังคำตอบจากทราย เราจึงอยากรู้มากขึ้นไปอีกว่า เธอต้องการให้คนที่ดูผลงานของเธอได้รับประสบการณ์แบบไหน?

“อยากให้คนดูได้รู้สึกความสนุก ความน่าสนใจของภาพ แต่ก็ยังรู้สึก Calming เพราะทรายใช้สีฟ้า กับสีโทนเย็นเยอะเหมือนกันค่ะ แต่ว่าอยากให้เขาต่อยอดไปเองว่า ดูจากฟีลลิ่งอันนั้น แล้วก็ดูจากภาพ เขาสามารถนึกอะไรไปได้อีก เขาอาจจะนึกถึงทะเล ความทรงจำของเขากับทะเล ความรู้สึกของเขากับทะเล ประมาณนั้นค่ะ แล้วก็มี Clue ให้เขามองแล้ว เอ๊ะ ทำไมมุม หรือมิติอันนี้มันดูเพี้ยน คือเพี้ยนโดยทรายตั้งใจให้เขาตั้งคำถามกับรูป”

Expanding the Artscape

“คิดว่าจะลองสมัครต่อปริญญาโทดูค่ะ” เป็นคำตอบของทรายเมื่อเราถามว่าเธอแพลนอนาคตไว้อย่างไรต่อไป ก่อนที่เธอจะอธิบายต่อว่า “ไม่ซีเรียสว่าได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็กลับไทยค่ะ แต่มองคณะนี้ไว้ที่ Harvard Graduate School of Design มันมีคณะที่อยู่ใต้ Design Study ที่เป็นคณะใหญ่ เรียนเรื่องการสร้าง Narrative ขึ้นมาจากภาพ การเขียน การเล่าเรื่อง คือทรายสนใจอันนั้นเพราะว่ามันเป็นการเรียนทฤษฎี เรียนสิ่งที่กว้างกว่าการที่เรามานั่งทำแค่ Painting อันเดียว คืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับการสานต่อให้ทุกอย่างเข้ามาเป็น Narrative ใหญ่ๆ โดยมีความซับซ้อน มีความน่าสนใจ มีสาระกับคนอื่น ที่เรารวมหลายรูปก็ได้แล้วมีอาจจะรวมเรื่องเสียง เรื่องการเขียน หรือว่ารวมดีไซน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ Painting อย่างเช่น อาจมีเกี่ยวกับแฟชั่นเสื้อผ้า หรือดีไซน์สิ่งของ อาจจะเป็น Exhibition Design ก็ได้”

ทำไมอยากเรียนต่อ?

“คิดว่าต้องเรียนค่ะ เพราะว่าในสายงานอาร์ต ถ้าทรายเรียนแค่ Painting เฉยๆ มันไม่พอ คืออยากมีอะไรที่มันเกื้อหนุนทางด้านทฤษฎี หรืออะไรที่กว้างกว่านี้ค่ะ ที่จะช่วยเอางานเราไปอยู่ในที่ที่กว้างขึ้น แทนที่มันจะเป็นแค่รูปเดียวติดอยู่กับกำแพง มันอาจจะมี Narrative มีสเปซที่ใหญ่ขึ้น แล้วก็อาจจะช่วยสนับงานของคนอื่นด้วยก็ได้ค่ะ คือมันไม่ทำเกี่ยวกับงานตัวเองอย่างเดียว”

แน่นอนว่า ทรายยังคงไม่หยุดทำผลงานเพียงแค่นี้แน่นอน ยังมีอีกหลายสิ่งที่เธออยากทำ และเราอาจจะได้เห็นบทบาทใหม่ของเธออีก “ทรายชอบ Painting เป็นหลักอยู่แล้วค่ะ แต่ว่าทรายสนใจเรื่องศิลปะอื่นๆ ด้วย ทรายอยากทำงานเกี่ยวกับคนในแวดวงศิลปะที่อยู่ด้านอื่น อย่างเช่น แฟชั่น หรือว่าดีไซน์ แล้วก็อยากร่วมมือกับเขา เขาอาจจะนำสิ่งที่เราวาดไปใช้ก็ได้ หรือว่ากลับกันก็คือ เราคอลแลบฯ กับเขา เราอาจจะนำสิ่งที่เขาทำมาผสมผสานกับงานเราก็ได้ แล้วจริงๆ เป็นคนชอบเขียน ถ้ามีโอกาสอาจจะ เขียนนู่นนี่เล็กๆ น้อยๆ ค่ะ”

Artistic Craftsmanship

เมื่อพูดถึงผลงานในอนาคต เราคงจะไม่พูดถึงการร่วมงานกันอีกครั้งของทราย และ Lotus Arts De Vivre ไม่ได้ เพราะนี่คือการจัดแสดงผลงานศิลปะครั้งที่ 2 ของทราย แต่ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังร่วมทำงานศิลปะชิ้นพิเศษอย่างการเพ้นต์ผลงานของเธอลงบนเปลือกไข่นกกระจอกเทศ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจะมอบแก่องค์กรการกุศลอีกด้วย เราเลยขอให้ทรายเล่าความรู้สึกของการร่วมงานกันอีกครั้งของเธอ และ Lotus Arts De Vivre

“ต่างจากครั้งแรกเยอะมากค่ะ คือตอนนั้นก็แค่วาดบนกระดาษ วาดรูปคนโดยการใช้สีเยอะๆ ทำความซับซ้อน ความน่าสนใจ โฟกัสเรื่องวาดคนให้ดูเป็นคาแร็กเตอร์ อาจจะเติมลวดลายอะไรบางอย่างค่ะ แต่พอตอนนี้เรากว้างมากกว่านั้น ถึงแม้ว่ามีงานที่วาดคน แต่เราก็จะผสมผสานลายเรขาคณิต สี วาดหลายคนเพิ่มมากขึ้นประมาณนั้นค่ะ แล้วพอไปที่มหาวิทยาลัยก็เริ่มทดลองเรื่อง Landscape ที่ซับซ้อน ก็ยิ่ง Abstract ขึ้นไปอีก เริ่มสนใจเรื่องคอนเซ็ปต์มากขึ้น เรื่องความยืดหยุ่น ความไหลเวียน ว่ามันสามารถสื่อจากภาพได้อย่างไร”

คอนเซ็ปต์ของงานชุดที่จะจัดแสดงคืออะไร?

“ทรายก็ยังทดลองกับหลายสไตล์ หลายความคิดนะคะ แต่ว่าส่วนใหญ่ภาพที่ทรายวาดเป็น Abstract คืออยากให้มันมองได้เป็นหลายสิ่งหลายอย่าง แล้วแต่คนมองว่าจะเห็นเป็นอะไร จะรู้สึกอย่างไร คือภาพมันจะสื่อความยืดหยุ่น ความไหลเวียน ความเป็นเวฟอยู่แล้วค่ะ คือทรายจะสนใจในเรื่องนี้มากค่ะ ความคลุมเครือ หรือว่ามันเป็นอะไรก็ได้ เราจะเน้นเรื่องประสบการณ์ และความรู้สึกที่มันได้มาจากรูป แล้วแต่ละคนก็จะมองไม่เหมือนกัน ก็จะให้ประสบการณ์การดูภาพของแต่ละคนที่มัน Unique”

‘Craftsmanship’ คือสิ่งที่ทรายบอกว่า เป็นเสมือนจุดร่วม หรือ DNA ที่งานของเธอ และ Lotus Arts De Vivre มีเหมือนกัน “ทรายคิดว่า งานทรายส่วนใหญ่จะโฟกัสเรื่องรายละเอียด และการใช้สี แล้วทรายคิดว่า ผลงานของ Lotus Arts De Vivre ก็เช่นเดียวกันนะคะ เพราะว่าเขาโฟกัสเรื่อง Craftmanship มากๆ รายละเอียด ดีไซน์ การให้คุณค่าอันนั้นทำให้เราค่อนข้างจูนกันได้ เข้าใจกัน และมีเป้าหมายคล้ายๆ กันในการผลิตผลงานแล้วเราเห็นว่า ชิ้นงานสุดท้ายมันต้องดูแล้วรู้ทันทีว่ามีความใส่ใจ มีรายละเอียด”

เราเลยถามทรายต่อว่า เธอได้เห็นอะไรจากการร่วมงานกับ Lotus Arts De Vivre อีกครั้ง หลังจากผ่านมา 3-4 ปี?

“ทรายคิดว่า Lotus Arts De Vivre เขาให้คุณค่าในเรื่องประเพณี แล้วก็วัฒนธรรมค่อนข้างเยอะ คือในดีไซน์ของเขาก็จะผสมผสานความเป็นไทย หรือความเป็นเอเชียในหลายๆ ด้าน หลายๆ วัฒนธรรม ไม่ว่าจะในด้านการใช้แมตทีเรียล หรือการดีไซน์ทุกอย่างค่ะ ทรายคิดว่า เขาได้นำแรงบันดาลใจจากฝั่งตะวันออกของเรา ผสมกับการดีไซน์ของตะวันตก ผสมผสานแล้วมันมีความละเอียดอ่อน มันเห็นได้ถึงความทันสมัย และสิ่งที่ดูเป็นธรรมเนียมดั้งเดิม ทรายประทับใจในเรื่องนี้มากค่ะ ที่เขาสามารถผสม 2 ด้านนี้ในดีไซน์”

ก่อนจากกันเราเลยให้ทรายเล่าถึงความน่าสนใจของงาน Painting ชิ้นพิเศษบนเปลือกไข่ทั้ง 2 ใบในโปรเจกต์นี้ ซึ่งเธอเล่าว่า เธอได้รับโจทย์จาก ‘รอล์ฟ วอน บูเรน’ ผู้ก่อตั้ง Lotus Arts De Vivre ให้เพ้นต์เปลือกไข่ต้อนรับปีมังกร

“อันนี้ก็จะเป็นรูปมังกรค่ะ ที่ตัวลำตัวมันกลายเป็นก้อนเมฆพันอยู่บนไข่ คืออยากสื่อถึงพลัง และความละเอียดอ่อนของมังกร ที่มีความทรงพลังมาก แต่ก็เป็นสัตว์ที่มีรายละเอียดลวดลายเยอะ ก็เลยอยากสื่ออันนี้ออกมาค่ะ ส่วนไข่อีกใบหนึ่งจะทำให้มันเกี่ยวกับงาน 30 ชิ้นของทรายมากขึ้น ก็จะเป็น Landscape ที่ดูแล้วเป็นอะไรก็ได้ บางคนเห็นเป็นสายน้ำ บางคนเห็นเป็นภูเขา แต่ว่าก็จะใช้ลายที่พันรอบๆ ไข่เหมือนเดิมค่ะ โดยอันนี้จะค่อยๆ ไล่ขึ้นไปกลายเป็นท้องฟ้าค่ะ มันจะเป็นเหมือนท้องฟ้าที่มีดาวหลายดวง แล้วทุกดวงก็จะมีรัศมีของมัน อยากให้ไข่ที่ดูบอบบาง มีลายที่พูดถึงอะไรใหญ่ๆ แข็งแรง เป็นการเพ้นต์บนไข่ครั้งแรกด้วยค่ะ” ทรายเล่า ก่อนจะบอกต่อว่า สาเหตุที่ต้องเป็นเปลือกไข่ เพราะทาง Lotus Arts De Vivre มองว่ามันคือสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ เหมือนกับที่ทางแบรนด์ต้องการสนับสนุนศิลปินน้องใหม่แบบทรายนั่นเอง

สามารถชมโปรเจกต์ ‘LADV X DAMISA’ ที่นำผลงานภาพวาดของ ทราย ดมิสา จำนวน 30 ภาพ มาจัดแสดง และจัดจำหน่าย

ได้ตั้งแต่วันที่ 21 – 24 พฤศจิกายน 2023

ที่ร้าน Lotus Arts de Vivre โรงแรม Anantara Siam (Google Map)