Culture

ความสำเร็จ หน้าที่ และการส่งต่อ DNA ให้ลูก ของ ‘กระแต ศิริพร’ นักกีฬาเพาะกายฟิตเนสในวัย 41 ปี

‘ผู้หญิงคนนี้แปลงร่างได้’ คือความรู้สึกแรกเมื่อได้เจอกับ ‘กระแต’ – ศิริพร ศรช่วย เพราะผู้หญิงรูปร่างเล็กคนนี้ คือคนเดียวกับนักกีฬาเพาะกายฟิตเนสหญิงที่คว้าแชมป์มาแล้วทุกเวที ทั้งในระดับประเทศ เอเชีย และระดับโลก

นี่ไม่ใช่ความรู้สึกดูหมิ่น แต่เป็นความทึ่งเสียมากกว่า ไม่น่าเชื่อว่าภายใต้เสื้อที่สวมใส่ในวันนี้ เธอจะซ่อนกล้ามเนื้อที่สวยงามไว้มากขนาดนั้น เมื่อได้ตามอ่านข่าว และบทสัมภาษณ์เก่าๆ ของเธอ ก็พบว่าความน่าทึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องรูปร่าง เพราะเส้นทางกว่าจะมาเป็นนักกีฬาเพาะกายที่ประสบความสำเร็จ และเรื่องราวระหว่างนั้น ก็น่าทึ่งไม่แพ้กัน

เส้นทางจากนักยิมนาสติกสู่เพาะกายฟิตเนส

พี่เป็นนักกีฬายิมนาสติกมาตั้งแต่ 9 ขวบ พอเรียนจบด้านสัตวแพทย์ ก็ได้ไปลองทำงานอยู่สักพัก แต่ไม่ชอบ เลยลาออกมาเป็นโค้ชยิมนาสติก สอนเด็กมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมีโอกาสได้เป็นโค้ชนักกีฬาเพาะกายฟิตเนส ส่งนักกีฬาแข่งตั้งแต่ปี 2010 ส่งมาเรื่อยๆ จนปี 2014 เด็กพี่ก็ได้เข้าทีมชาติ และได้แชมป์โลกตอนปี 2015

ระหว่างนั้น ประมาณปี 2012 พี่คลอดลูก ต้องเลี้ยงลูกแฝดค่อนข้างหนัก สุขภาพไม่ดี ตัวผอมเหมือนคนเป็นโรค ‘เควิน’ (วันชัย กาญจนพิมาย) นักกีฬาเพาะกายฟิตเนสแชมป์โลก ซึ่งเป็นเพื่อนนักยิมด้วยกัน เขาก็มาชวนออกกำลังกาย และชวนไปแข่งเพาะกายฟิตเนสด้วย แต่พี่บอกว่าไม่แข่ง เพราะอยากให้เด็กได้แชมป์โลกก่อน อยากทุ่มเทส่งเขาให้ถึงฝั่ง

แต่พอนักกีฬาของเราได้แชมป์โลก เด็กก็เริ่มมาชวนเราแข่งด้วย ตอนนั้นเลยรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นโอกาสของเราแล้ว 7-8 ปีที่แล้วพี่ก็เริ่มตั้งเป้าหมายว่าต้องแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อจะได้มีสิทธิ์คัดตัวเข้าทีมชาติ วันนั้นพี่ขึ้นเวทีแข่งกับนักกีฬาตัวเองเลย นักกีฬาที่เป็นแชมป์โลกได้ที่ 1 พี่ได้ที่ 3 พี่แฮปปี้นะ เพราะเป็นเวทีแรก แล้วลูกศิษย์ก็ได้รางวัลด้วย

จริงๆ พี่เป็นคนข้ามสเต็ป เพราะการที่จะเป็นโค้ชได้ ควรต้องเป็นนักกีฬามาก่อน แต่บังเอิญเรามีเพื่อนที่ดี เราได้เรียนรู้จากเขาเยอะ ทำให้การเปลี่ยนจากนักยิมมาเป็นเพาะกาย ไม่ใช่เรื่องยาก เว้นแต่เรื่องอาหาร เพราะต้องคำนวณมากขึ้น เพื่อให้สิ่งที่กินเข้าไปมันออกมาให้เห็นในกล้ามเนื้อของเรา และต้องกินอาหารหลักตั้ง 5 มื้อ ซึ่งปกติพี่เป็นคนกินน้อย และไม่กินจุกจิก คือตอนซ้อมพี่ยังซ้อมได้ไม่รู้สึกเหนื่อยอะไร แต่พอนั่งกินข้าวเนี่ยต้องถอนหายใจเลย (หัวเราะ)

ความกังวลของผู้หญิงเมื่อเล่นกีฬาเพาะกาย

กังวลเรื่องชุดแข่ง เพราะต้องใส่บิกินี่ สำหรับพี่คิดว่ามันโป๊กว่าชุดยิมนาสติก และเราก็มีลูกเล็ก มีสามี พี่เลยต้องลองใส่ชุดแล้วถามสามีก่อนเลยว่าเธอโอเคไหม ซึ่งสามีพี่ว่าโอเค คนในบ้านก็โอเค พอหลังๆ ร่างกายพี่เริ่มมีกล้ามเนื้อ รูปร่างดีขึ้น พี่ก็เริ่มรู้สึกว่าการใส่บิกินี่มันสวย ครอบครัวก็สนับสนุนมากขึ้น

เป็นนักกีฬามาได้นาน แม้ว่าจะไม่ได้ชอบยิมนาสติกขนาดนั้น

บางอย่างถึงจะไม่ชอบ แต่พอได้รับหน้าที่แล้วก็ต้องทำ คือพี่ไม่ได้มีอาชีพเป็นนักกีฬา แต่พี่เป็นนักกีฬามืออาชีพ

ความสำเร็จของการเปลี่ยนจากยิมนาสติกสู่เพาะกาย จากโค้ชสู่นักกีฬา

การมีวินัยในการซ้อม ความรับผิดชอบในหน้าที่ ครอบครัวที่เข้าใจ แล้วก็สมาคมกีฬาฯ เพราะถ้าไม่มีสมาคม ก็คงไม่เกิดการแข่งขัน และไม่มีการสนับสนุนที่พาพี่มาถึงจุดนี้ได้

เพราะมีเป้าหมาย เลยยังไม่ท้อ

มันเป็นเรื่องของการตั้งเป้าหมาย เป้าหมายจะทำให้เกิดแรงผลักดัน ก็เหมือนคนที่อยากถูกรางวัลที่ 1 ถึงไม่ถูกแต่ก็ยังต้องซื้อต่อไป นักกีฬาก็เหมือนกัน บางครั้งเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ไม่ชอบ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

สิ่งที่อยากบอกตัวเองในวันแรกที่เข้าสู่วงการกีฬาเพาะกาย

“น่าจะเล่นเพาะกายให้เร็วกว่านี้” จริงๆ พี่รู้จักเพาะกายมานานมากแล้ว แต่ตอนนั้นเราไม่อยากเป็นนักกีฬาแล้วเพราะมันเหนื่อย เลยตัดสินใจไปเป็นโค้ชดีกว่า

เหตุผลที่เล่นกีฬาเพราะกายประเภทฟิตเนส

มันเป็นรุ่นที่เราจะได้ใช้สกิลยิมนาสติกเดิมคือ การแข่งขันมันจะแบ่งเป็น 2 รอบคือ ‘รอบรูปร่าง’ ที่จะดูพวกรายละเอียดกล้ามเนื้อ อันนี้เป็นพื้นฐานเหมือนประเภทอื่น แล้วก็จะมี ‘รอบรูทีนประกอบเพลง’ ให้เราขึ้นไปแสดง 1 นาที 30 วินาที ทำท่าโชว์พลัง ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความคล่องแคล่ว

Photo Credit: Mountain Walker - 55th Bodybuilding and Physique Sports Championships 2023

วันเดอร์ วูแมนที่เนปาล

‘The 55th Asian Bodybuilding and Physique Sports Championship’ พี่แต่งตัวเป็นวันเดอร์ วูแมน เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบ และมองว่าเสื้อผ้า หน้า ผม เครื่องประดับต่างๆ มันก็เข้ากับฟิตเนสได้ พี่ออกแบบโชว์ด้วยตัวเองมาตลอด เพราะยึดความชอบของเราเป็นหลัก แต่จุดสำคัญคือชุด ที่เห็นนี้แฟนพี่เป็นคนตัดให้ คือเราทำกันเองหมด

ถามว่ามีความจำเป็นไหมที่เราต้องแต่งตัวจัดเต็มแบบนั้น ก็ไม่จำเป็น เขาไม่ได้บังคับ แต่มันเป็นสีสันมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้คำแนะนำจากเควิน เพราะมันจะช่วยสร้างคาแร็กเตอร์ ทำให้กรรมการสนใจ และดึงดูดคะแนนได้ นี่รายการถัดไป (ชิงแชมป์โลก ที่เกาหลีใต้ 6-12 พ.ย. นี้) ก็มีธีมแล้วนะ

ความคาดหวังในการชิงแชมป์โลกครั้งถัดไป

ทุกการแข่งขันความคาดหวังของทุกคนคือเป็นแชมป์ พี่ก็คาดหวังแบบนั้น อยากได้แชมป์โลกสมัยที่ 3 แต่ก็มีเผื่อใจไว้ ถ้าบนเวทีมันไม่ใช่เรา ก็ต้องยอมรับให้ได้

เป้าหมายใหม่ที่ไม่ใช่แค่เหรียญทอง

ถ้าถึงจุดๆ หนึ่ง พี่อยากเลิก เพราะมันเป็นกีฬาที่ต้องทุ่มเทใช้เวลาอยู่กับตัวเอง แต่พี่มีครอบครัว อยากดูแลเขาให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่กล้าตัดมันไปทันที เพราะกลัวว่าร่างกายจะกลับไปสภาพเดิม ชิงแชมป์โลกครั้งนี้จะเป็นการตัดสินใจของพี่แล้ว เพราะเงื่อนไขของสมาคมกีฬาเพาะกายฯ คือถ้าไม่ได้เหรียญทอง จะต้องไปควอลิฟายใหม่ พี่ก็รอดูอยู่ ถ้าได้เหรียญก็ทำหน้าที่ต่อ แต่ถ้าไม่ได้ก็อาจยุติ และทำหน้าที่โค้ชอย่างเดียว เพราะมีนักกีฬาที่ต้องดูแลอยู่ หนึ่งในนั้นก็คือลูกชาย

การส่งต่อ DNA นักกีฬาเพาะกายฟิตเนสจากแม่สู่ลูก

เริ่มมาจากการที่พี่อยากให้เขาเล่นกีฬาอยู่แล้ว แต่เป็นยิมนาสติก เพราะพ่อแม่มีทักษะด้านนี้ แต่ครั้งหนึ่งพี่เห็นกล้ามเนื้อ เห็นซิกแพ็กเขาแบบบังเอิญ เขาเพิ่ง 9 ขวบเอง เลยรู้สึกว่ามันเจ๋ง เขาน่าจะไปต่อได้ พอหมดโควิด นอกจากจะพาเขาไปเล่นยิมนาสติกแล้ว ก็ให้เขาได้ลองแข่งเพาะกายฟิตเนสด้วย แต่พี่จะเลือกรายการแข่งให้ เพราะเขายังเด็กมาก

ต้องยอมรับว่ากีฬาเพาะกายกับเด็กมันยังยากอยู่ พี่จะบอกเขาเสมอว่าให้ไปแข่งแบบสมวัย ไม่ต้องแข่งกับคนอื่น ตอนนี้ทั้งคู่อายุ 11 ขวบแล้ว จากผลงานที่ทำมา ปีนี้ก็จะเป็นปีแรกที่จะขึ้นรายการชิงแชมป์ประเทศไทย

หลายคนยังมองว่าเพาะกายอันตรายเกินไปสำหรับเด็ก

พี่ไม่เคยพาลูกเข้าฟิตเนสหรือไปยกเวทที่ไหนเลย แต่เขาได้กล้ามเนื้อมาจากการเล่นยิมนาสติก แต่ไม่ใช่ว่าเด็กที่เล่นยิมทุกคนจะมีบอดี้แบบนี้ ดังนั้นพี่จะไม่แนะนำว่าให้ทุกคนไปเล่นยิม แล้วค่อยมาเพาะกาย เพราะร่างกายเด็กต่างกัน

ความยากสำหรับการเทรนนิ่งเด็ก

ยากที่สุดคือการกิน อย่างผู้ใหญ่เนี่ยพอเราบอกให้คุมอาหาร ก็เครียดแล้ว เด็กก็เป็นเหมือนกัน แล้วมันก็ไม่ใช่วัยที่ต้องลดด้วย เพราะเขามีเอเนอร์จี้เยอะ เมตาบอลิซึมสูง พี่แทบไม่ต้องคุมเขา แต่เราต้องให้เขาเรียนรู้ คือก่อนแข่งสัก 1-2 สัปดาห์ พี่จะให้งดน้ำหวาน ขนม น้ำอัดลม แต่ยังกินข้าวได้ตามปกติ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความสำเร็จ ความเต็มที่ในทุกหน้าที่ รวมถึงการส่งต่อ DNA นักกีฬาให้ลูกชายฝาแฝด ตามแบบฉบับของกระแต ศิริพร ที่เราหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจได้สักหนึ่งช่วงขณะหนึ่งของชีวิต

ขอบคุณ

สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย

The Physique Fitness