Culture

'บัตรคอนแพง' สถานการณ์จากเหล่าแฟนคลับ ที่ย้ำว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

'ราคาบัตรคอนเสิร์ต จะถูกควบคุมกี่โมง?' ผู้เขียนขอเกริ่นความสงสัยของตัวเอง และใครหลายคนในช่วงนี้ ด้วยศัพท์ยอดฮิตสักหน่อย เพราะตั้งแต่โควิดหายไป ราคาบัตรคอนฯ และบัตรแฟนมีตติ้งในไทยก็ทำให้มนุษย์แฟนคลับอย่างเราๆ ขนลุก บัตรแพงสุดยุคนี้ทะลุ 6,xxx ไปถึงหลักหมื่นบาทกันแทบทั้งนั้น

ทำให้สองสามปีมานี้ กลุ่มแฟนคลับ ในฐานะผู้บริโภคของอุตสาหกรรม ได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐทำอะไรสักอย่าง  เพราะถึงแม้หลายคนจะมีทุนทรัพย์ในการจ่าย แต่ก็มองว่านี่คือการถูกกดให้อยู่ในภาวะ 'จำยอมจ่าย' มากกว่า 'เต็มใจจ่าย' ซึ่งผู้เขียนมองว่า สถานการณ์นี้เน้นย้ำได้แบบชัดเจนว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และเกี่ยวข้องกับทุกจังหวะชีวิต

สถานการณ์ราคาบัตรคอนฯ ในช่วงนี้

ถ้าเจาะลึกเฉพาะคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีในไทย ข้อมูลจาก The MATTER ระบุว่า ราคาเฉลี่ยของบัตรในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 5,270 บาท, ปี 2022 อยู่ที่ 4,848 บาท, ปี 2021 ไม่มีการจัดคอนเสิร์ต, ปี 2020 อยู่ที่ 4,262 บาท, ปี 2019 อยู่ที่ 4,470 บาท, ปี 2018 อยู่ที่ 4,336 บาท

อย่างไรก็ตาม ราคาบัตรที่แพงขึ้น ไม่ได้เป็นปัญหาแค่กับบ้านเราเท่านั้น เพราะหลายประเทศก็กำลังเผชิญอยู่เหมือนกัน อ้างอิงข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจที่บอกว่า ปัจจุบันราคาบัตรคอนเสิร์ตทั่วโลกแพงขึ้น 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดปี 2019 เช่น คอนเสิร์ต Black Pink ที่สิงคโปร์ในปี 2023 แพงกว่าช่วงก่อนโควิด แม้จะจัดในสถานที่ที่ใหญ่ขึ้น

เหตุผลที่บัตรคอนฯ แพงขึ้น

  1. กลไกด้านเศรษฐศาสตร์ ดีมานด์-ซัพพลาย เมื่อโควิดหมดไป คนมีความต้องการดูคอนเสิร์ตกันมากขึ้น ขณะที่ข้อจำกัดด้านการจัดงาน เช่น จำนวนวัน ขนาดสถานที่ มักจะไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้ผู้จัดตั้งราคาขายที่สูงได้  
  2. อัตราเงินเฟ้อที่ได้รับผลกระทบจากทั้งโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าครองชีพในหลายประเทศสูงขึ้น ราคาค่าตัวศิลปิน และทีมงาน รวมถึงอาหาร ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และโปรดักชัน เลยแพงไม่หยุด ผู้จัดต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกับการติดต่อให้ศิลปินต่างชาติมาจัดงานในไทย ที่ทุกอย่างถูกกำหนดโดยบริษัทต้นสังกัดศิลปิน ผลกรรมเลยตกอยู่กับผู้บริโภค
  3. จำนวนสปอนเซอร์ที่ บางงานมีสปอนเซอร์น้อย ทำให้ผู้จัดต้องขายบัตรแพง เพื่อลดความเสี่ยงกรณีบัตรเหลือ
  4. บางครั้งการนำศิลปินต่างชาติมาจัดงานในไทย ต้องผ่านระบบการประมูล ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนั้นก็จะกลายเป็นภาระของผู้บริโภค ในลักษณะของราคาบัตร

ซึ่งแฟนคลับก็มีทั้งกลุ่มที่รู้ และไม่เคยรู้ปัจจัยเหล่านี้มาก่อน แต่ทั้งหมดก็ยังมองว่าราคาบัตรในช่วงนี้แพงเกินไปอยู่ดี

บัตรแพงสวนทางกับรายได้

นอกจากนั้น เหตุผลที่ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าราคาบัตรคอนเสิร์ต และบัตรแฟนมีตติ้งในไทยแพงจนน่าขนลุก คือ ราคาขาย สวนทางกับ 'รายได้' ของคนในประเทศ

ตัวอย่าง ปี 2023 บัตรคอนเสิร์ต NCT DREAM in Singapore ราคาถูกสุด $168 หรือ 4,463.93 บาท และแพงสุด $288 หรือ 7652.46 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 20 ต.ค. 66) ส่วน NCT DREAM in BANGKOK ถูกสุด 2,000 บาท แพง2สุด 6,500 บาท

ถ้ามองเพียงผิวเผิน ราคาบัตรที่สิงคโปร์แพงกว่าไทย แต่เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนสิงคโปร์แล้ว พบว่าราคาบัตรนั้นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย เพราะข้อมูลในปี 2564 จาก World Bank ระบุว่าคนสิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 72,794 ดอลลาร์/คน/ปี หรือประมาณ 2.62 ล้านบาท ขณะที่คนไทย อยู่ที่ 7,233.4 ดอลลาร์/คน/ปี หรือ 260,402.4 บาท เท่านั้น

ซึ่งปัญหานี้ในบ้านเราเรียกได้ว่าเข้าขั้นหนัก เพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งของศิลปินต่างชาติที่มาจัดในไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับศิลปินไทยที่จัดงานในไทยด้วย จนแฟนคลับออกมาโจมตีผู้จัด และต้นสังกัดศิลปินกันอยู่บ่อยๆ

Jackson Wang Magic Man World Tour 2022 Bangkok
Photo Credit: workpointTODAY

ความไม่คุ้มยิ่งกระตุ้นให้ราคาบัตรดูแพง

อีกสิ่งที่แฟนคลับมองว่าราคาบัตรแพงจนน่าโมโห คือ เบเนฟิต การบริหารจัดการ และการทรีตผู้บริโภคของบรรดาผู้จัด เพราะหลายครั้งที่ผู้จัดใช้กลยุทธ์เพิ่มเบเนฟิต เพื่อเพิ่มราคาบัตร แต่แฟนคลับมองว่าไม่คุ้ม เช่น บัตรราคาเฉียดหมื่น แต่ต้องสุ่มสิทธิ์ Photo Group และหลายครั้งที่ผู้จัดกระทำการบางอย่างข้ามหัวแฟนคลับ เช่น จัดงานในไทย แต่มีโควตาขายบัตรให้แฟนต่างชาติก่อน, ไม่มีล่ามแปลภาษาในงาน เป็นต้น

ที่ผ่านมา บางผู้จัดก็ได้มีการปรับเบเนฟิตให้เหมาะสมมากขึ้น ภายหลังจากที่ประกาศเบเนฟิตไปแล้ว เช่น Jackson Wang Magic Man World Tour 2022 Bangkok, LIT & GLITTER PP KRIT THE FIRST FAN MEETING เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีอีกหลายงานที่ไม่ได้ปรับอะไรเลย ทำให้แฟนคลับต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมจ่ายแพง เพื่อสนับสนุนคนที่ตัวเองรัก ซึ่งเมื่อเจอสภาวะนี้บ่อยๆ แฟนคลับหลายด้อมจึงพยาพยามส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเบเนฟิต ก็มีเสียงสะท้อนจากฝั่งผู้จัดออกมาเป็นระยะ เพราะสิ่งที่แฟนคลับหลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ ถ้าเป็นงานของศิลปินต่างชาติ ผู้จัดฝั่งไทยไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง

กฎหมายคือทางออกของบัตรแพง

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ที่ทำให้บัตรคอนเสิร์ต และแฟนมีตติ้งในไทยแพงสวนทางกับรายได้คนในประเทศ แฟนคลับส่วนมากมักจะให้ความเห็นว่า 'กฎหมาย' คือทางออก ทั้งในลักษณะกฎหมายควบคุมราคาบัตรคอนเสิร์ต กฎหมายควบคุมการทำงานของผู้จัด รวมถึงการทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพถูกลง และสามารถเข้าถึงสื่อบันเทิงได้ง่ายขึ้น

เท่าที่ผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และกฎหมายมาบ้าง สรุปได้ว่า กฎหมายที่ควบคุมราคาบัตรโดยตรงยังไม่มี เพราะบัตรคอนเสิร์ต และบัตรแฟนมีตติ้ง จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมถึงการซื้อขายบัตรระหว่างผู้จัด-แฟนคลับ เข้าเงื่อนไขเสรีภาพในการทำสัญญา หรือ Freedom of Contract ที่รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้

แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องของการทำสัญญาที่เป็นธรรม, พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ พ.ศ.2542 กับการเอาผิดผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้า และบริการแพงเกินควร เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้แฟนคลับมองว่า ตนกำลังเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถต่อรองอะไรกับนายทุนได้ ดังนั้นแฟนคลับจำนวนไม่น้อยจึงเฝ้ารอการเกิดขึ้นของกฎหมายควบคุมราคาบัตรคอนเสิร์ตอยู่เสมอ ถึงจะดูว่าเป็นไปได้ยาก

ไฟความหวังถูกจุดติด แต่ยังไม่เห็นทางไปต่อ

เมื่อปลายปี 2565 แฟนคลับได้รู้สึกมีความหวังเรื่องกฎหมายการควบคุมบัตรคอนเสิร์ตขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อสคบ. ประกาศว่ากำลังพิจารณาแนวทางการดูแล และช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องนี้อยู่

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตตัวเต็งนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น เห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ และโพสต์ให้ความเห็นใน X (ทวิตเตอร์) ส่วนตัวว่า “เห็นราคาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีแล้วตกใจ...รัฐควรเข้ามาดูแลและกำกับราคาได้แล้ว” และเสนอว่ารัฐน่าจะเพิ่มsupply/incentive ให้เหล่าผู้จัด เพื่อให้มีผู้จัดเยอะขึ้น ราคาบัตรลดลง

และเมื่อพฤษภาคม สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจได้ชวนเหล่านักการเมืองจากพรรคต่างๆ มาร่วมถก และเสนอแนวทางเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาราคาบัตรคอนเสิร์ตแพงด้วยเหมือนกัน ซึ่งก็มีประเด็นน่าสนใจมากมาย เช่น รัฐควรเข้ามาดูแลเรื่องราคา เพิ่มค่าครองชีพคนไทย บังคับใช้กฎหมายจริงจัง สนับสนุนให้ธุรกิจแข่งขันกันได้แบบเสรี และโปร่งใส เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ทำให้ไฟแห่งความหวังของเหล่ามนุษย์แฟนคลับถูกจุดขึ้นมา เพราะเห็นว่า (ว่าที่) ผู้มีส่วนบริหารบ้านเมืองรับรู้ปัญหาแล้ว น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ แต่ ณ ปัจจุบัน ความหวังนั้นก็เหมือนจะไม่เห็นหนทางไปต่อ เพราะยังไม่มีการเริ่มต้นในเรื่องของมาตรการ หรือกฎหมายควบคุมราคาบัตรคอนเสิร์ตอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี แม้จะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด เพราะยังพอมีหน่วยงานที่สร้างความใจชื้นให้เหล่าแฟนคลับได้อยู่บ้าง อาทิ กรณีสภาองค์กรผู้บริโภค และสคบ. ที่ช่วยดูแลกรณีระบบจองบัตร NCT Dream มีปัญหา, กรมการค้าภายใน ช่วยผู้บริโภคเรียกร้องเรื่องการขายบัตรคอนเสิร์ต STRAY KIDS แพงเกินเหตุ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การกระทำเหล่านี้คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ออกแนว ‘วัวหายล้อมคอก’ เสียมากกว่า

บทสรุป

แม้ราคาบัตรแพงจะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น จนสะเทือนถึงคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง แต่ปัจจุบันความหวังเรื่องกฎหมายควบคุมราคาบัตรก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น

ผู้เขียนในฐานะแฟนคลับคนหนึ่งที่จ่ายค่าความรัก (บัตรคอนเสิร์ต) ต่อปีในหลักหลายหมื่นบาท เข้าใจดี และเห็นด้วย ที่หลายคนมองว่าบัตรคอนเสิร์ต และแฟนมีตติ้งราคาแพง คือปัญหาที่ควรมีใครออกมาควบคุมสักที จึงได้แต่หวังว่าอนาคตอันใกล้ (หรืออาจไกล?) นี้ จะมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างออกมาควบคุม และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเราๆ กันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้แม้พวกเราจะเป็นแหล่งรายได้ของธุรกิจคอนเสิร์ต แต่แทบจะไม่สามารถต่อรองกับระบบนายทุนนี้ได้เลย ขณะเดียวกัน ก็อยากให้กฎเกณฑ์ที่ออกมานั้น เป็นธรรมกับทั้งฝั่งผู้จัด และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่า วงจรธุรกิจจัดคอนเสิร์ตไม่ได้มีแค่นายทุน แต่ยังมีพนักงานตัวเล็กๆ รวมอยู่ด้วย

และจะยิ่งดีไปกว่านั้น ถ้ากฎเกณฑ์นั้น ช่วยคลายปัญหาการจัดงานในมิติอื่นได้ เช่น กฎเกณฑ์สำหรับผู้จัดต่างชาติที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในไทย แต่ไม่ให้สิทธิแฟนคลับไทยอย่างเท่าเทียม หรือแม้แต่การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ราคาบัตรคอนฯ และแฟนมีตติ้งจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อไหร่ ก็คงต้องฝากความหวังไว้ที่ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมือง เพราะผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนายทุนได้ แต่พวกท่านทำได้

อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ

สำนักงานบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

The Matter

ฐานเศรษฐกิจ

SBS

Wealthy Thai