Art

‘ARAN’ เกย์ตุ้ย ที่เป็นนักแต่งเพลง โตมากับละครหลังข่าว และกำลังหยดน้ำลงในวงการเพลง เพื่อสร้างพื้นที่ของเกย์ธรรมดา

ย้อนกลับไปเมื่อราว 2 เดือนที่ผ่านมา ‘เล่นไฟ’ (Wildfire) หนึ่งในเพลงของ ‘Aran’ หรือ ‘นุ้ย’ – อรัณย์ หนองพล ที่ปล่อยออกมาในตอนนั้นมาพร้อมกับ MV ที่พลิกภาพลักษณ์ของเขาไปอย่างมาก กับความร้อนแรงในเนื้อหา ซีนจูบที่นัวเนียกันอย่างถึงพริกถึงขิง อีกหนึ่งอินเทอร์เน็ตฟีโนมินัลเล็กๆ ที่หลายคนกล่าวถึง และเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ได้ปล่อยเพลงล่าสุดของเขาออกมา ‘สักคำ…ก็สำคัญ’ เพลงที่เขาตั้งใจแต่งให้แม่ ที่ต้องปาดน้ำตากันหลายยกกว่าจะได้เพลงนี้มา – เลยสบโอกาสชวนนุ้ยมาคุยกันที่ร้าน Madi Wine Bar ย่านเจริญกรุง ในบรรยากาศสบายๆ แน่นอนว่ามาพร้อมเครื่องดื่ม กับการรวบรัดชีวิตตลอด 30 ปีของนุ้ย การเติบโต การเดินทาง ของเกย์ตุ้ยธรรมดา (นุ้ยชอบแทนตัวเองด้วยคำนี้) ที่เขายังถามเรากลับมาว่า “นี่ฉันสำคัญมากถึงขนาดที่จะต้องมีใครมาสนใจสิ่งที่ฉันสัมภาษณ์เลยเหรอ”

แรงผลักดันที่นำไปสู่เวทีประกวด เรื่อยมาจนเดบิวต์เป็นนักร้องเต็มตัว

นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน อรันเล่าให้เราฟังว่าเขาเริ่มเดินสายประกวดร้องเพลงตั้งแต่ตอนอายุ 15 ไม่ว่าจะเวที The Star, Academy Fantasia, The Voice ซีซั่นไหนๆ เขาก็เคยไปร่วมออดิชั่นมาแล้วทั้งนั้น ด้วยแรงกำลังใจจากคนในครอบครัวและความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังว่า “ถ้าตั้งใจทำอะไร ท้ายที่สุดเราต้องได้ดี” จนกระทั่งค้นพบความจริงที่ว่า ‘ความพยายามไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จเสมอไป’ และเวทีประกวดคงไม่ใช่ที่สำหรับเขา

“มันเป็นวันหนึ่งในช่วงม.ปลาย ที่ House RCA ตอนนั้นประกวด Academy Fantasia ซีซั่น 9 ซึ่งจริงๆ ก็ไปมาหลายเวที แต่วันนั้นทุกคนที่ไปออดิชั่นจะต้องยืนร้องเพลงต่อหน้าคนประมาณ 50-60 คน เรายืนข้างหน้า เขานั่งบนเก้าอี้สโลปเหมือนในโรงหนัง มันเป็นวันที่รู้สึกว่า เฮ้ย ร้องเพลงแล้วมีคนสนใจด้วย ทุกคนกำลังจับจ้องเราอยู่ พอร้องไป 1 เพลง กรรมการก็ขอให้ร้องเพลงร็อก เพลงป็อป จำได้ว่ายืนอยู่ตรงนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งมันนานกว่าคนอื่นๆ และมันมีจังหวะหนึ่งที่เขาบอกว่าช่วยเปิดหน้าผากให้ดูหน่อย เราก็คิดว่าเฮ้ย เขาขอดูโครงหน้าเราเผื่อปั้นชัวร์ เรารู้สึกว่า เชี่ย กูได้เข้าบ้าน AF กูได้กินไก่ไมโครเวฟในตู้เย็นแน่นอน เป็นครั้งแรกเลยที่ภูมิใจกับการร้องเพลง”

“แต่ก็ไม่ได้ มันก็เฟล แล้วเราเฟลแบบนี้บ่อยมาก มีครั้งหนึ่งจองตั๋วไปออดิชั่น The Voice ที่ภูเก็ต เพื่อไปร้องแค่ 2-3 เพลง แค่นั้นเลย เราเหนื่อยและเสียเวลามาก ทุ่มเททุกอย่างเพื่อสิ่งนี้แล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ ตั้งแต่วันนั้นก็ไม่ไปประกวดอีกเลย โลกของการประกวดร้องเพลงอาจจะไม่ใช่ที่ของเรา”

“เราอยากร้องเพลง อยากได้โอกาส เพราะว่าเราไม่มีพื้นฐานการร้องเพลง แค่รู้สึกว่าชอบร้องเพลงและหลายคนก็บอกว่าเราร้องเพลงได้ ก็เลยอยากจะเข้าไปฝึกฝนและพัฒนาตัวเองถ้ามีโอกาส มันเป็นเหมือนทุนเรียนดีของเด็กที่บ้านไม่มีเงิน หรือเด็กที่ที่บ้านฐานะปานกลาง แบบที่ไม่สามารถซัพพอร์ตกิจกรรมต่างๆ ที่มันนอกเหนือการเรียนธรรมดาๆ ทั่วไปได้ เรามองว่าการได้ไปอยู่บ้าน AF แล้วก็ได้เรียนคลาสร้องเพลง คลาสเต้น คลาสแอ็กติ้ง วันเสาร์ก็ได้ขึ้นเวที เป็นอีกหนึ่งขั้นบันไดเพื่อก้าวขึ้นไปเป็นนักร้อง ซึ่งมันก็คงเป็นการขายฝันรูปแบบหนึ่งกับกลุ่มเด็กในยุคนั้นที่ว่า เป็นดารานักร้องสิ มันดูเก๋ ดูรวย น่าสนุก น่าชื่นชม ตัดมาตอนนี้ที่ทุกคนอายุ 30 แล้วมองย้อนกลับไป ทุกคนที่ผ่านจากเวทีเหล่านั้นมาก็ไม่ได้ไปไหนไกล ก็อยู่เป็นเพื่อนๆ พวกเรานี่ล่ะ ทั้งที่ในตอนนั้นทุกอย่างมันดูยิ่งใหญ่มากจริงๆ”

ถึงแม้ว่าจะเลิกรากันไปกับการประกวดร้องเพลงตามรายการต่างๆ อรันก็ไม่ได้ลบล้างความตั้งใจที่จะเป็นศิลปินเข้าสักวัน เขาค่อยๆ เดินหน้าต่อไปตามจังหวะของตัวเอง เริ่มจากการร้องเพลงในผับบาร์ เรื่อยไปจนร้องเพลง Cover และเริ่มทำเพลงเป็นของตัวเอง

“สมัยมหา’ลัย เราเริ่มร้องเพลงเป็นงานกลางคืน เลิกเรียนเสร็จก็แบกกีตาร์ไปเล่นที่ข้าวสารกับเพื่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการร้องเพลงจริงจังเลย แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาจนมีวง เริ่มไปเล่นที่อื่นมากขึ้น เลียบด่วนบ้าง รามคำแหงบ้าง ซึ่งระหว่างนั้นก็ทำงานประจำไปด้วย ตอนกลางวันเป็นนักเขียนที่ Attitude ตอนกลางคืนเป็นนักร้อง เลิกงาน 6 โมงเย็นก็เดินจากตึกแกรมมี่ นั่งเรือข้ามคลองแสนแสบ เพื่อไปร้องเพลงที่รามคำแหง คงเหมือนทุกๆ งาน ทำตอนแรกมันสนุก พอทำไปเรื่อยๆ มันเริ่มไม่สนุกแล้ว แต่ส่วนนี้มันไม่ใช่เนื้องาน มันคือบรรยากาศของงานที่เราต้องไปเจอ เคยโดนล้อว่าอีตุ๊ด เอาที่หนีบน้ำแข็งแหย่ตูด สารพัดเรื่องราวที่จะจินตนาการได้เวลาคนเมา แล้วเราในตอนนั้นก็ Handle สิ่งนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นตอนนี้ก็อีกเรื่องนะ (หัวเราะ) คือต้องเข้าใจก่อนว่าพอเข้าไปในฐานะวงดนตรีของร้านเหล้า คนก็ไม่ได้ให้เกียรติเราขนาดนั้น และอีกอย่างคือมองไม่เห็นอนาคตด้วยว่าจะทำอย่างไรต่อ จากแค่เข้าไปร้องเพลงชั่วโมงครึ่ง รับเงิน 800 แล้วก็กลับบ้าน นี่เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่าไปทำเพลงของตัวเอง เป็นศิลปินดีกว่า”

“ตอนที่เริ่มต้นทำเพลงก็เพราะว่าเจอคุณเบนซ์ แฟนเก่าที่เป็นนักดนตรี เราเคยคุยกันว่ามาลองทำเพลงของตัวเองกันไหม แต่ว่าทำ Cover ไปด้วยนะ จะได้พัฒนาสกิลของกันและกัน เราฝึกร้อง เขาฝึกทำดนตรี ก็เลยเริ่มทำ Cover มาเรื่อยๆ แล้วก็ทำเพลงของตัวเองด้วย เพลงที่ Cover แล้วชอบที่สุดคือ ‘ห้องเดิม’ ของพี่คริสติน่า อากีล่าร์ เพราะว่าเอาเพลงของ Britney มาแมชอัพกับเพลงนั้น รู้สึกว่าเก๋มาก ส่วนเพลงที่ทำให้คนมารู้จักเราจริงๆ ก็ ‘ทำไมต้องเป็นฉัน’ แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยทำ Cover แล้ว เพราะว่ากำลังเตรียมอัลบั้มอยู่”

เข็น เค้น กลั่น – คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ได้งานออกมาสักชิ้น

ต่อให้เป็นศิลปินตามที่คาดหวังเอาไว้แล้ว มันก็ไม่ได้เต็มไปด้วยความสุขสมหวังเสมอไป เพราะเมื่อเซ็นสัญญากับค่าย FINE FIND BEAT แล้ว โรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกก็ทำให้งานต้องหยุดชะงัก อรันจึงต้อง ‘เข็น’ ตัวเองให้เขียนเพลงขึ้นมา ด้วยการ ‘เค้น’ ความทรงจำและความรู้สึกที่ยากจะลืม แล้วจึง ‘กลั่น’ เป็นเนื้อเพลงซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

“ทรมานมาก ในแง่ที่เราเซ็นสัญญาไปแล้ว แต่เพราะติดช่วงโควิด-19 ทำให้แพลนงานไม่ถูกปล่อยออกมาอย่างที่ควร และพอถึงช่วงท้ายของสัญญา เราก็ต้องสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมารอตอบรับกับช่วงเวลา ซึ่งมันค่อนข้างแน่น แล้วก็เครียดมากๆ อย่างเช่น เราเพิ่งปล่อยเพลงไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เราโอเคกับความถี่ของการปล่อยงานนะ แค่มันมีเวลาทำงานน้อย ทำให้เหนื่อยในแง่ของความรู้สึกด้วย แต่ก็ทุ่มเทให้กับอัลบั้มนี้ที่เป็นอัลบั้มแรก ซึ่งมันจะสรุปประสบการณ์ชีวิต 30 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราก็ต้องพยายามหันไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่อยากเล่า แต่ต้องเล่า ไม่อย่างนั้นก็จะคาใจไปเรื่อยๆ เช่น ความเศร้า ความคิดถึง การพูดถึงคุณย่าที่เสียไป ทุกครั้งที่เขียนเพลงก็จะรู้สึกทรมาน เข้าใจแล้วที่มีคนบอกว่าเราจะไม่เข้าใจศิลปินที่เขียนเพลงขึ้นมาว่าเขาเศร้าขนาดไหน ถึงขั้นเขียนไปร้องไห้ไป พอเจอกับตัวเองก็รู้เลยว่าทรมานมาก จิตใจอ่อนไหว แต่ในหัวก็ต้องเลือกคำ”

“มันเหมือนกับว่าเราย้อนกลับไปดูตัวเองและร่วมรู้สึกกับเหตุการณ์ทั้งหมด นับ 1-10 เห็นภาพตั้งแต่ตอนที่น้องสาวส่งข้อความมาว่า ‘คุณย่าเสียแล้วนะ’ เห็นภาพตัวเองนั่งร้องไห้อยู่ในห้องน้ำ เรื่อยไปจนถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นอีก การเขียนเพลงมันไปขุดเอาเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเล่นซ้ำ ก่อนจะอัดใส่เข้าไปในเพลง กลายเป็นว่าความทรงจำไม่ได้หายไปหรอก เราก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม เศร้าเท่าเดิม แค่เข้าใจถึงการเป็นไปของชีวิตมากขึ้น และทุกอย่างก็มารวมอยู่ในเพลงนี้ที่กำลังจะปล่อยให้คนอื่นๆ ฟัง”

“เพลงที่เกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ก็มี อย่างความ Toxic ของความสัมพันธ์ เพราะเคยเจอแบบนั้นก่อนที่จะมาเจอแฟนคนปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็อยู่ในแทบทุกเพลงนะ เพราะแค้นมาก เคยคิดเอาไว้ว่าถ้าวันหนึ่งดังขึ้นมา เขาเดินขึ้นรถไฟฟ้าก็ต้องเห็นหน้าเราอยู่บนนั้น ใครบอกว่า โห Aran ทำเพลงด้วยความฝัน ไม่ค่ะ ทำด้วยความแค้นผัวเก่า (หัวเราะ)”

เกย์ธรรมดา เพื่อให้ความธรรมดามีที่ยืน

อีกหนึ่งภาพจำของเกย์ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง มาร์เก็ตติ้ง ทนายความ ครู หรือไม่ว่าอาชีพใด ก็ตาม ความตะโกน ความแต่งตัว สีสัน และอื่นๆ อีกมากมาย จะถูกคาดหวังจากกลุ่มคนที่บอกว่าตัวเองเป็นเกย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวของนุ้ยเลย

“เราบอกแม่ว่าเป็นเกย์ตั้งแต่ตอนอายุ 16 แม่ก็ตอบกลับมาว่า ‘อือ แล้วไง’ คือที่บ้านเลี้ยงเรามาแบบชิลมาก เรื่องนี้ไม่เคยเป็นปัญหาในชีวิตเลย จนกระทั่งทำงานเป็นศิลปิน เราเป็นเกย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตปกติ เป็นพนักงานกลางวัน เที่ยวกลางคืนเหมือนคนทั่วไป แต่วงการบันเทิงจะไม่ค่อยมีที่สำหรับเกย์ธรรมดาสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะมีความตะโกนออกมาเลยว่าเป็นเกย์ เป็นเก้ง แต่งแดรก แต่เราใช้ชีวิตโคตรธรรมดาเลยนะ แค่เป็นเกย์ที่ชอบร้อง และแต่งเพลงได้ ถ้าเป็นตัวแทนของความธรรมดานี้ก็คือ ‘ไม่โปรดักทีฟ’ แต่กับ ’เล่นไฟ’ นี่คนละเรื่องเลยนะ”

“สุดท้ายแล้ววงการนี้ก็ต้องการอะไรสักอย่างที่ขายได้ นึกภาพว่าถ้าจะต้องนำเสนอโปรดักต์สักชิ้น เราก็ต้องยอมรับก่อนว่าตัวเองเป็นศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งมีเพลงเป็นสินค้าที่ต้องขายให้กับคนฟัง เพราะฉะนั้น บางครั้งก็เลยต้องตะโกนออกไปบ้างว่า นี่เรา ศิลปินเก้ง”

“ล่าสุดเจอพี่แทน ลิปตา กับพี่นต Getsunova เขาก็บอกว่า MV แซ่บใช้ได้ เอาเรื่องนะครับ ดีใจที่มันไปถึงสายตาของคนเหล่านี้ แล้วก็แก๊งน้องๆ ที่รู้จักกัน นนนก็ชอบ เขามาบอกว่าดีจังเลย แต่สิ่งที่ทำให้ดีใจยิ่งกว่าคือคนไม่ปฏิเสธความเป็นเรา เพราะเราชอบคิดไปเองว่าเป็นเกย์อ้วนธรรมดาแล้วจะนำเสนอตัวเองอย่างไรดี กังวลด้วยว่าจะแรงเกินไปไหม แรงเกินในที่นี้คือ คนไม่ชอบกันหรอก เราไม่ได้หล่อ อีกอย่างคือมีหลายปัจจัยมากที่ทำให้ไม่กล้า แค่คิดว่าถ้าเรานำเสนอตัวเราที่เป็นเราจริงๆ นิสัยแบบนี้ ภาพลักษณ์แบบนี้ ทำได้ก็ทำไปเถอะ อายุก็ 30 แล้ว”

“ในความเป็นจริง ความเป็นเกย์แบบเราก็มีอยู่ในสังคมและการทำให้เกิดการมองเห็นก็สำคัญเหมือนกัน เราเองก็ได้ทลายกรอบบางอย่างไปด้วย ขณะที่ทำให้คนดูรู้สึกว่านี่คือเรื่องธรรมดา”

กว่าจะออกมาเป็น ‘เล่นไฟ’

“ปล้ำกับมันมาตั้งนาน เอาจริงๆ เพลงนี้แต่งเสร็จนานมากแล้ว ซึ่งสำหรับเรา มันมีความครึ่งๆ กลางๆ ด้วยความที่เนื้อเพลงมันแรง แหลม แต่ก็มีความเป็นกวีอยู่ค่อนข้างสูง เปรียบเปรยพรรณนาโวหารซะเยอะ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความป็อปอยู่ พอแต่งเพลงเสร็จปุ๊บ ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้คนเห็นภาพว่าเพลงนี้กำลังสื่อสารอะไร ก็เลยไปเล่าไอเดียให้พี่กิต – กฤษยา สิทธิเสรี ฟัง แล้วก็เอาตัวเองมาเล่น MV ด้วย เพราะว่ามันก็เป็นภาษาของเรา เมโลดี้ของเรา น่าจะนำเสนอออกมาชัดที่สุด ส่วนที่เลือก ‘เต้’ – พัฒนากร อดิเรกเกียรติ มาเล่นด้วยก็เพราะว่าเป็นเพื่อนกันนี่ล่ะ ไม่คิดอะไรอยู่แล้ว แถมเต้ยังฟังเพลงที่เราเขียนและชอบมาก ก็เลยรู้สึกว่าถ้ามีสักงานหนึ่งที่มีเขาอยู่ด้วยก็น่าจะดี ไม่ใช่ในเชิงชู้สาว แต่เป็นการใส่คนที่มีสลักสำคัญในชีวิตประมาณหนึ่งเข้าไปใน MV”

‘เกย์ตุ้ย’ นอกกรอบ BEAUTY STANDARD ที่ไม่เคยเป็นปัญหา

“คนชอบเรียกเราว่าน้องอ้วน พี่เกย์หมี ซึ่งเราก็ไม่เคยจัดหมวดหมู่ตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้น และรู้สึกว่าสังคมตรงนั้นมันไม่ใช่เรา เราก็แค่เป็นเกย์คนหนึ่งที่ตัวใหญ่เฉยๆ ซึ่งเมื่อก่อน การเป็นเกย์อ้วนก็จะเท่ากับว่าเป็นคนชายขอบสุดๆ ไปได้แค่ร้านคาราโอเกะ ซอย 4 เท่านั้น แต่เราก็ไม่ได้มีปัญหากับรูปลักษณ์ของตัวเองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทุกวันนี้คนก็เริ่มหันมาสนใจเรื่อง Inclusivity มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี ตัวเราที่เคยทำแม็กกาซีน Attitude มาก่อนก็เห็นโลกมาเยอะจากบทความเหล่านั้น เกย์มีความหลากหลายมาก ทั้งเกย์อ้วน แดรกควีนที่เป็นคนพิการ พอวันนี้สังคมมองเห็นความหลากหลายมากขึ้นก็ดีใจ”

“เราว่าการเป็นเกย์ตุ้ยในวงการเพลงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้คนไม่คิดว่าเราเป็น Entertainer ด้วยภาพจำที่ว่าเป็นเกย์แล้วต้องสนุกหรือต้องตลก ซึ่งเราก็ไม่ได้สนุกตลอดเวลา เราเห็นศิลปินเควียร์ป็อปอย่างพี่ต้น ธนษิต กับพี่พีท พล ด้วยภาพลักษณ์แบบนั้น เขาก็ร้องเพลงได้ ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นเกย์ ซึ่งเขาก็สบายใจกับมัน แต่เรายังคิดเยอะกับการเป็นตัวเอง กลัวการได้รับฟีดแบ็กที่ไม่ดี เช่น เวลามีคนมาบอกว่าน้องอรันเขาตลกอยู่นะ ร้องเพลงเพราะเหมือนเบน ชลาทิศเลย เรารู้สึกว่าเราก็คืออรันเฉยๆ ไม่อยากให้เรียกเป็นอย่างอื่น เพราะอย่างนี้ด้วยที่ทำให้ตั้งใจจะตะโกนในเพลงเล่นไฟ ปล่อยเบลอว่าใครจะฟังไม่ฟัง จะพูดอะไร เกย์ทั่วๆ ไปแบบเราควรมีที่ยืน เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เพียงแต่ว่าความเป็นเกย์จะทำให้คนนึกถึงภาพจำแบบอื่น”

“การเป็นเกย์ธรรมดามันขายยากสุดๆ เราเพิ่งจะทำเพลงมา 3 ปี ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะต้องฟังเพลงของเรา ก็เลยทำเพลงให้คนที่ผ่านมาฟังกันไปก่อน ค่อยมารู้จักตัวตนกันก็ได้ แต่ว่าพอพูดถึงความเป็นเกย์ บางครั้งก็รู้สึกเหมือนเอาอัตลักษณ์ทางเพศตัวเองมาขาย กลัวว่ามันจะเป็น Rainbow washing หรือเปล่า กับการพูดว่าเราเป็นศิลปินเกย์ ศิลปิน LGBTQ+ ที่แต่งเพลงเอง ร้องเพลงเอง และแต่งเพลงให้คนอื่นด้วย บางคนอาจจะไม่ได้คิด แต่บางคนอาจจะจำว่า คนนี้ พี่อรันที่เป็นเกย์ไง แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นการเอาเพศมาหากินไหม พูดแบบไม่รู้เลย อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้คิดว่าตัวตนของเรามีสลักสำคัญต่อโลกขนาดนั้น ผลงานสำคัญกว่า”

“การสร้างพื้นที่ให้เกย์แบบเราในสื่อเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเราก็ไม่ได้โตมากับการมี Role Model เป็นศิลปินเก้งอ้วน หรือคนตัวใหญ่ แล้วคนอ้วนที่อยากเป็นศิลปินและเป็นเกย์ด้วย ต้องหันไปมองใครเป็นแบบอย่าง ถึงจะไม่รู้สึกเคว้งคว้าง”

อนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า

“ใน 5 ปีข้างหน้า เผลอๆ อาจจะอยู่ในวงการต่อไป หรืออาจจะไปเที่ยวรอบโลกมาแล้ว จริงๆ เคยคิดไว้ว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จสักทีก็จะไปทำงานเบื้องหลัง เพราะทุกวันนี้เราเขียนเพลงให้คนอื่นอยู่เรื่อยๆ มีที่ประสบความสำเร็จมาแล้วบ้าง แต่ก็ยังอยากมีความสำเร็จใหม่ๆ ด้วย การเป็นนักแต่งเพลงน่าจะเป็นบทบาทใหม่ที่สามารถทำได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นคนที่เสพติดผลลัพธ์มาก ทำเพลงเสร็จแล้วก็อยากปล่อยเลย อยากรู้ว่าสิ่งนี้ Matter กับคนอย่างไร ใดๆ ก็คงชอบการเขียนเพลงมากกว่าการเป็นศิลปิน เพราะไม่ต้องมานั่งแคร์เรื่องภาพลักษณ์ ขัดกับการเป็นศิลปินที่ต้องออกไปโชว์ ไปสัมภาษณ์กับสื่อ แต่ในอนาคตก็คงจะยังทำเพลงของตัวเองอยู่ อีก 5 ปีค่อยว่ากัน”

ติดตามผลงานอื่นๆ ของ Aran ต่อได้ที่

YouTube: TERO MUSIC / Aran
Facebook: Aran
Instagram: @aran.np
Twitter: Aran

ขอบคุณสถานที่

Madi Wine Bar
เจริญกรุง 43 (Google Map)

เปิดบริการ: ทุกวันพฤหัส – วันอาทิตย์
เวลา: 18.00 – 24.00 น.
สามารถจอดรถได้ที่: ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)