Culture

จากอดีตถึงวันนี้ กับหลากหลายเรื่องราวที่หล่อหลอมเป็น ‘แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์’ ผู้เกิดมาเพื่อเป็นนักกีฬาเซิร์ฟ

“จินตนาการไม่ออกจริงๆ ว่าถ้าตัดเซิร์ฟออกไปจากชีวิต แล้วจะเหลืออะไร หรือทำอะไรอยู่ เพราะมันคือหนึ่งในชีวิตของแอนนี่ เราโตมากับกีฬาทางน้ำ”

เมื่อมีโอกาสได้คุยกับ ‘แอนนี่ - แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์’ (Anni - Annissa Tita Flynn) นักกีฬาเซิร์ฟลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย เราจึงตั้งใจมากที่จะถามเธอว่า เคยคิดไหมว่าถ้าตอน 8 ขวบไม่ตัดสินใจเล่นเซิร์ฟ ตอนนี้จะทำอะไรอยู่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็ไม่ผิดคาดเลยสักนิด

แอนนี่คือนักกีฬาเซิร์ฟอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ใครหลายคนยกให้เป็นหญิงสาวผู้เกิดมาเพื่อกีฬานี้โดยเฉพาะ เพราะตลอดเวลาที่เติบโตในประเทศภูเก็ต (เธอเรียกมันว่าแบบนั้น) จนถึงปัจจุบัน ก็จะเห็นภาพชีวิตเธอที่เต็มไปด้วยแพชชั่นของการโต้คลื่น การออกเดินทางแข่งขัน และการผลักดันวงการเซิร์ฟไทยให้ไปไกลกว่าเดิม

Photo credit: fish_man_thailand

โต้แดดท้าคลื่นด้วย DNA จากพ่อ

จุดเริ่มต้นของแอนนี่และเซิร์ฟ มาจากการปลูกฝังของคุณพ่อ ผู้ชื่นชอบการเล่นกีฬากลางแจ้ง ตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก

“คุณพ่อของแอนนี่เป็นคนออสเตรเลีย เขาชอบการเล่นกีฬาอยู่แล้ว จริงๆ ก็สอนทุกอย่างเลย แต่สิ่งที่ติดใจเป็นอย่างแรกคือเวคบอร์ด แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ แล้วเริ่มรู้สึกปวดเข่า ก็เลยอยากเปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นบ้าง ไม่อยากเสี่ยงบาดเจ็บแล้ว พ่อเลยพาไปลองเล่นเซิร์ฟกับกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่หาดกะตะ (ภูเก็ต) นั่นเป็นจุดเริ่มต้นเลย แค่เล่นครั้งแรกก็ติดใจแล้ว”

แอนนี่ไม่เคยกลัวดำแดดหรือน้ำทะเล เพราะพ่อสอนมาอย่างนั้น กีฬาทางน้ำมันเลยเป็นอะไรที่ออกมาจากแอนนี่โดยธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องพยายามอะไรมากมาย

สิ่งที่ทำให้ติดใจการโต้คลื่น

“คลื่นแต่ละลูกมันไม่เคยเหมือนกัน ต่างจากการปั่นจักรยานที่ยังไงถนนก็ยังเหมือนเดิม และแอนนี่รู้สึกว่าจิตวิญญาณของการโต้คลื่นคือการที่คุณจะเป็นใครก็ได้ ยังไงทะเลก็พร้อมโอบกอดทุกคน ขอเพียงแค่อยากเล่น คนที่หาดก็พร้อมสอน Everything is all good แค่สนุกไปกับมันก็พอ”

ชีวิตเด็กลูกครึ่งที่เติบโตมาเป็นนักกีฬาคนเก่งของกะตะ

ก่อนจะไปเจาะลึกถึงเส้นทางนักกีฬา ขอย้อนถามถึงเรื่องราวระหว่างการเติบโตบ้าง ว่าการเป็นเด็กลูกครึ่งในไทยเป็นอย่างไร มีผลกับการใช้ชีวิตหรือการเป็นนักกีฬาของเราไหม? 

“จริงๆ แอนนี่โตที่ประเทศไทยและอยู่ที่นี่เป็นหลัก นานๆ ทีถึงกลับไปเที่ยวออสฯ และความที่อยู่ในภูเก็ต ซึ่งมีชาวต่างชาติเยอะมาก โดยเฉพาะในคอมมูนิตี้ของคนเล่นเซิร์ฟ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติหรือลูกครึ่งกันอยู่แล้ว แอนนี่เลยไม่ได้รู้สึกแปลกแยกหรือใช้ชีวิตยากขนาดนั้น”

Photo credit: Brian Stamm

“รู้สึกชอบสังคมที่ตัวเองอยู่ในหลายเรื่องเลย เพราะมีความกันเอง อบอุ่น อย่างเวลาไปซื้อข้าวเหนียวไก่ทอด เราก็ไปคุยกับป้าเขาเรื่องชีวิตได้ พี่ๆ หน้าหาดทุกคนก็รู้จักเรา จะไปคุย ไปเล่นเซิร์ฟกับใครก็ได้ มันคือ bonding experience จากการเติบโตที่นี่”

ชีวิต Surfer ในแบบของแอนนี่

กลับมาที่เส้นทางชีวิตนักกีฬา หลังจากที่ติดใจเซิร์ฟ และมีคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว พี่ๆ ที่หาดกะตะ และสปอนเซอร์คอยสนับสนุน แอนนี่ก็หันมาเอาจริงเอาจัง ด้วยการไปแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และมักจะได้รางวัลกลับมา เราจึงได้ถามแอนนี่ว่ามีเทคนิคการซ้อมอย่างไรบ้าง?

“แอนนี่ซ้อมทุกวันค่ะ เพราะประเทศไทยมีคลื่นแค่ 6 เดือนเอง ซึ่งก็คือตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป บวกลบ 1 เดือนตามสภาพอากาศ ช่วงไหนที่ไม่มีคลื่นก็ต้องเข้ายิม ใช้เซิร์ฟสเก็ตฝึกร่างกาย และ parody ทำทุกอย่างบนบก ส่วนตอนที่ไทยไม่มีคลื่นก็จะเดินทางไปซ้อมที่อินโดนีเซีย บาหลี ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซียบ้าง ยกเว้นช่วงโควิดที่อยู่แต่บ้าน”

Photo credit: Brian Stamm

“ปกติแอนนี่ชอบไปที่ Banda Aceh หมู่เกาะของอินโดนีเซีย มันเป็นที่แรกที่แอนนี่ได้เข้าอุโมงค์คลื่น หนึ่งในความฝันของนักกีฬาโต้คลื่นทุกคน เพราะเราจะได้ไปอยู่ในอ้อมกอดของน้ำ มหัศจรรย์มาก ต่างจากคลื่นของไทยที่จะกินเราเข้าไป (คลื่นทุบ) และที่นี่มีจุดให้เล่นคลื่นหลายรูปแบบ แต่ที่น่าสนใจคือจะมีร้านอาหารอยู่แค่สองที่ ส่วน Wi-fi ก็ช้ามาก และมีแค่บังกะโลพัดลม แต่มีทะเลที่เงียบสงบ พอได้ไปเลยเหมือนเปิดโหมดพาวเวอร์ออฟ เพื่อมาโฟกัสกับการโต้คลื่นมากขึ้น”

โอกาสที่มาพร้อมคลื่นลูกใหญ่

อย่างที่เธอบอกว่าช่วงโควิดต้องอยู่แต่ที่บ้าน นั่นแปลว่าช่วงนั้นรายการแข่งเป็นศูนย์ และยังไม่ได้ออกไปซ้อมที่ต่างประเทศบ่อยๆ เหมือนเดิมด้วย แต่เธอบอกว่าเป็นช่วงที่ทำให้ได้ปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง

Photo credit: Brian Stamm

“ช่วงโควิดมันต้องปรับสภาพจริงๆ แอนนี่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่นานขนาดนี้ เพราะชีวิตที่ผ่านมาคือการเดินทางไปแข่ง แต่ก็เป็นโอกาสให้ได้เปลี่ยนมายด์เซต คือถ้าหันมาดูนักกีฬาบ้านเรา เขาก็เก่งนะ แต่ยังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงอยู่บ้าง แอนนี่เลยอยากเป็นหนึ่งในคนที่เอาความรู้ทั้งหมดที่มี มาช่วยดูแลวงการเซิร์ฟไทย พยายามสืบทอดกีฬานี้ต่อไป”

ความฝันที่อยากจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน

“ในอนาคตคงไม่ถึงกับเป็นครูสอนเซิร์ฟค่ะ แต่แอนนี่ให้คำแนะนำเรื่องการแข่งขันได้ และจะเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ รุ่นใหม่ได้รู้ ได้เห็นว่าการเป็นนักกีฬาโต้คลื่นมืออาชีพมันเป็นไปได้”

รายการแข่งขันที่อยากจะชนะให้ได้

“เป้าหมายสูงสุดยังไงก็จะเป็นการได้รางวัลที่ 1 ในหลายรายการระดับสากล แต่ตอนนี้กำลังโฟกัสกับ WSL (World Surf League) รายการนี้จะแบ่งเป็น 3 เลเวล ซึ่งแอนนี่ยังแข่งได้แค่เลเวล 1 และการที่จะขึ้นไปอยู่เลเวล 2 ได้ ก็จะต้องเป็น Top 4 นักเซิร์ฟหญิงในเอเชีย ถ้าถามว่ายากไหม ก็ยาก เส้นทางยังอีกไกล แต่แอนนี่รู้สึกว่าเรารวบรวมชีวิต สปอนเซอร์ และทรัพยากรทุกอย่างมาพร้อมแล้วกับการลงมือทำให้ได้”

การพูดคุยกันตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงนี้ ทำให้รู้ว่า ‘ผู้เกิดมาเพื่อเป็นนักกีฬาเซิร์ฟ’ ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาเพราะโชคช่วย กว่าจะเป็น แอนนิสซา ฐิตา ฟลินน์ ที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางนักกีฬาเซิร์ฟ ล้วนถูกหล่อหลอมจากธรรมชาติ ครอบครัว และคนรอบข้างทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ปี ค.ศ. 2022 นี้ การเก็บคะแนนเลเวล 1 ของรายการ WSL ยังมีอีก 2 สนาม คือที่ฟิลิปปินส์และไต้หวัน สามารถติดตามข่าวสาร และเป็นกำลังใจให้แอนนี่ได้ทางเฟซบุ๊ก Annissa Tita Flynn