Daily Pickup

6 เครื่องดื่มคลาสสิกแห่งโลกภาพยนตร์

มากกว่าพล็อตเรื่องและตัวละคร ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องสามารถให้กำเนิดหลายสิ่งหลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างเครื่องดื่ม ก็สามารถเป็นได้มากกว่าสิ่งของประกอบฉาก แต่กลายเป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อการเล่าเรื่องได้ และเมื่อภาพยนตร์ได้รับความนิยมมากพอ จนกลายเป็นความคลาสสิก เครื่องดื่มเหล่านั้นก็อาจจะเดินทางออกจากนอกจอ มาโลดแล่นอยู่ในบาร์เครื่องดื่ม ไปจนถึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนรักภาพยนตร์ และนี่คือตัวอย่างบางส่วนของเครื่องดื่มคลาสสิก ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นที่จดจำในจอเท่านั้น แต่ยังมีชีวิตนอกจออีกด้วย

Photo Credit: Slash Film

Vodka Martini: 007

แฟรนไชส์สายลับ 007 ไม่เพียงแต่จะให้กำเนิดตัวละครสุดคลาสสิกอย่าง James Bond เท่านั้น แต่หลายองค์ประกอบของภาพยนตร์ชุดนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อป หนึ่งในนั้นคือเครื่องดื่มที่สายลับ Bond โปรดปรานอย่าง Vodka Martini ที่มีบรีฟเฉพาะตัวว่า “เขย่า ไม่ต้องคน” (Shaken, not stirred.)

‘Vodka Martini เขย่า ไม่ต้องคน’ ปรากฏครั้งแรกในตอน Diamonds Are Forever จากนวนิยายชุด James Bond 007 ของ Ian Flemming ในปี 1956 แต่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์นั้น ผู้ที่พูดประโยคนี้ครั้งแรกคือ Dr. Julius No

Vodka Martini แบบฉบับของ James Bond เป็นเครื่องดื่มไอคอนิคที่แตกต่างจากมาร์ตินีทั่วไป โดยมีส่วนประกอบได้แก่ วอดกา, เวอร์มูธ และผิวมะนาว

แม้ว่า Vodka Martini เขย่า ไม่ต้องคน จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มลายเซ็นของ Bond แต่จากภาพยนตร์ทั้ง 24 เรื่อง (นับจนถึง Spectre ในปี 2015) เราพบว่า สายลับ Bond ดื่ม Vodka Martini ทั้งหมด 28 แก้ว ขณะที่ในนวนิยาย Bond ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ไป 19 แก้ว ซึ่งน้อยกว่าวิสกี้โซดาที่เขาดื่ม 21 แก้ว

Photo Credit:  Mitchell & Cooper

Vesper: Casino Royale

Vesper เป็นชื่อของมาร์ตินี ที่ปรากฏครั้งแรกในนวนิยายชุด James Bond 007 ตอน Casino Royale ของ Ian Flemming ในปี 1953 และปรากฏอีกครั้งในภาพยนตร์ 007: Casino Royale โดยมีที่มาจากชื่อของ Vesper Lind รักแรกของ James Bond

ในนวนิยายของ Flemming เครื่องดื่มชนิดนี้ถูกเรียกว่า ‘Special Martini’ จนกระทั่งเมื่อ Bond ได้รู้จักกับ Vesper เขาบอกกับเธอว่า การค้นหาชื่อที่เหมาะสมของเขาสิ้นสุดลงแล้ว หากเธออนุญาตให้เขาตั้งชื่อมาร์ตินีแก้วนั้นด้วยชื่อของเธอ

ส่วนในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ Vesper ขอให้ Bond ตั้งชื่อเครื่องดื่มตามชื่อเธอ “เพราะมันทิ้งรสขมไว้ในปาก” Bond ตอบว่า เขาตั้งชื่อเครื่องดื่มนี้เป็นชื่อเธอ “เพราะเมื่อคุณได้ลิ้มรสมัน คุณจะไม่อยากดื่มอย่างอื่นอีกเลย” และหลังจากที่ตัวละคร Vesper เสียชีวิต เครื่องดื่มชื่อนี้ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ในนวนิยายของ Flemming ภาคอื่นๆ อีก

สำหรับสูตรของ Vesper Martini ที่ปรากฏอยู่ในนวนิยาย ได้แก่ “กอร์ดอน 3 ส่วน, วอดกา 1 ส่วน, คินา ลิลเล็ต ครึ่งส่วน เขย่าจนกว่าจะเย็น และใส่ผิวมะนาวชิ้นใหญ่ลงไป” และแม้ว่าจะไม่ได้ผสมเวอร์มูธ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในยุคของเฟลมมิง แต่ก็ถูกเรียกว่า Vesper Martini เช่นกัน

แม้จะมีข้อมูลว่า Ian Flemming เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องดื่ม แต่เขากลับไม่ได้เป็นผู้ที่คิดสูตร Vesper Martini ผู้ที่คิดค้นสูตรนี้ขึ้นคือ Ivar Bryce เพื่อนของเขาเอง โดย Flemming ได้เขียนถึง Bryce ในเล่ม Casino Royale ว่า “แด่ Ivar ผู้ซึ่งผสม Vesper แก้วแรก และกล่าวคำอวยพร” (For Ivar, who mixed the first Vesper and said the good word.)

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 1958 Flemming เขียนจดหมายถึง The Guardian ว่า เขาได้ชิม Vesper ครั้งแรกช่วงหลายเดือนหลังจากที่ใส่ค็อกเทลนี้ลงในนวนิยาย เขาพบว่ามัน “กระเดือกไม่ลง”

Photo Credit: Mashed

Cosmopolitan: Sex and the City

Sex and the City ซีรีส์เพื่อนหญิงพลังหญิง เรื่องราวชีวิตของผู้หญิง 4 คน ในนิวยอร์กซิตี้ ได้แก่ Carrie, Samantha, Charlotte และ Miranda ที่นับเป็นซีรีส์ที่สร้างปรากฏการณ์ และเปิดประตูสู่โลกภาพยนตร์ในยุค 90s ให้กับประเด็นต่างๆ และพล็อตเรื่องที่มีนักแสดงหลักเป็นผู้หญิงทั้งหมด รวมถึงเครื่องดื่มค็อกเทลอย่าง Cosmopolitan

โดยทั่วไปแล้ว Cosmopolitan มักจะถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มของผู้หญิง แต่ก็สามารถชนะใจนักดื่มได้ด้วยรสชาติหวานและเปรี้ยว ด้วยส่วนผสมของวอดก้า น้ำแครนเบอร์รี และเหล้าทริเปิลเซค ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนคุณเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในเมืองที่วุ่นวาย Nicole Salicetti ผู้เชี่ยวชาญด้านค็อกเทลจากนิวยอร์กซิตี้ ที่เคยทำงานอยู่ที่ The Coffee Shop ใน Union Square ซึ่งเป็นโลเคชั่นหลักของซีรีส์ ให้ความเห็นว่า Cosmo เป็นมาสคอตอย่างหนึ่ง และเป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนนิยมสั่ง

นอกจากนี้ Cosmopolitan หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Cosmo เปรียบเสมือนกับเพื่อนคนที่ 5 ของสาวๆ ในแก๊งนี้ด้วย

Photo Credit: Essential Journal

Mint Julep: The Great Gatsby

แม้ว่าในภาพยนตร์ The Great Gatsby ผลงานการกำกับของ Baz Luhrmann จะไม่ได้กล่าวถึงเครื่องดื่มที่ตัวละครดื่มมากนัก แต่ในนวนิยายที่เป็นผลงานของ F. Scot Fitzgerald มีการกล่าวถึงเครื่องดื่มสุดโปรดของ Daisy Buchanan นางเอกของเรื่องอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ Mint Julep

Mint Julep เป็นเครื่องดื่มเย็นชื่นใจที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเบอร์เบินวิสกี้ มินต์ และน้ำตาล วิธีการทำก็คือ นำน้ำสะอาดมาผสมกับน้ำตาล จนข้นเหมือนน้ำมัน จากนั้น บดมินต์ด้วยช้อนในแก้ว และปาดมินต์ให้ทั่วแก้ว แล้วเอามินต์ที่เหลือทิ้งไป เติมน้ำแข็งบดลงในแก้ว ใส่เบอร์เบินปริมาณตามใจชอบ เบอร์เบินจะค่อยๆ ซึมผ่านน้ำแข็งช้าๆ ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเติมน้ำผสมน้ำตาลลงไป โดยไม่ต้องคน ปล่อยทิ้งไว้สักครู่ ทาขอบแก้วด้วยมินต์ เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นมินต์ขณะที่ค่อยๆ จิบช้าๆ

Mint Julep ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวแทนแห่งทศวรรษ 1920 แต่ที่จริงแล้ว เครื่องดื่มชนิดนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายศตวรรษ ก่อนจะหยั่งรากในทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา หากย้อนไปในปี 1789 คำว่า Julep ถูกใช้ในความหมายว่า น้ำผสมน้ำตาลที่ใช้ผสมกับยา เพื่อการบริโภค และในอีก 75 ปีต่อมา ใน Jerry Thomas’s Bartender Guide Mint Julep ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ยิ่งกว่านั้น เรายังเห็นสูตร Mint Julep ที่ผสมกับส่วนประกอบดั้งเดิมอย่างบรั่นดี เช่นเดียวกับพีช เสิร์ฟในแก้วที่ทาขอบด้วยสับปะรด ในช่วงเวลาเดียวกัน ความเป็น Mint Julep แบบทางใต้ของสหรัฐฯ ก็เริ่มชัดเจนขึ้น โดยในบทกวีของ Joshua Soule Smith กล่าวไว้ว่า Mint Julep คือคำจำกัดความของการทำค็อกเทลที่ดีที่สุด

ส่วนบทบาทของ Mint Julep ใน The Great Gatsby ก็ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มดับร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่าง Gatsby พระเอกของเรื่อง และ Daisy เนื่องจาก Gatsby ทำธุรกิจลักลอบนำเข้าเหล้าเถื่อน จึงมีเหล้ามากพอให้ Daisy ได้เสพเพื่อลืมความทุกข์จาก Tom Buchanan ผู้เป็นสามี และเกาะติดกับคนรักเก่าอย่าง Gatsby นั่นเอง

Photo Credit: Tapas Magazine

Butterbeer: Harry Potter

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วรรณกรรมและภาพยนตร์แฟรนไชส์ Harry Potter ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งจินตนาการเกี่ยวกับโลกเวทย์มนต์ให้กับคนทั่วโลก หลายคนสามารถกล่าวถึงโรงเรียนฮอกวอร์ตส์ตรอกไดแอกอน, ธนาคารกริงกอตส์ หรือบ้านโพรงกระต่าย ได้ราวกับเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงบนโลก และเครื่องดื่มที่ทุกคนต้องนึกถึงเมื่อมีบทสนทนาเกี่ยวกับ Harry Potter นั่นคือ 'Butterbeer'

“แฮร์รี่ดื่มบัตเตอร์เบียร์อึกใหญ่ เป็นของอร่อยที่สุดเท่าที่เขาเคยลิ้มรสมา และดูเหมือนว่ามันจะทำให้ภายในกายเขาร้อนซ่านทั่วทุกขุมขน” ข้อความตอนหนึ่งจาก Harry Potter and the Prisoner of Azkaban ที่แนะนำให้เรารู้จักกับเจ้าเครื่องดื่มหอมหวานชนิดนี้

Butterbeer เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในโลกพ่อมด ซึ่งมีวางขายที่ร้านสามไม้กวาด และฮอกส์เฮด ในหมู่บ้านฮอกส์มีด รวมทั้งที่ร้านหม้อใหญ่รั่วในตรอกไดแอกอน โดยส่วนใหญ่จะเสิร์ฟแบบเย็นในขวด และเสิร์ฟแบบร้อนในแก้วเบียร์ขนาดใหญ่ สนนราคาประมาณ 2 ซิกเกิลส์

Butterbeer มีปริมาณแอลกอฮอล์เล็กน้อย ในระดับที่ทำให้เอลฟ์ประจำบ้านเมา เนื่องจากมีขนาดตัวเล็ก และมีสารเคมีในร่างกายที่แตกต่างจากมนุษย์ ดังที่ปรากฏในหนังสือ Harry Potter and the Goblet of Fire ที่เอลฟ์ประจำบ้านชื่อ Winky เมา Butterbeer จนถูกไล่ออกจากบ้าน และยังเป็นการเสพติดแบบถาวรด้วย

เจ. เค. โรว์ลิง ผู้เขียนนวนิยาย Harry Potter ระบุว่า เธอเป็นผู้คิดค้น Butterbeer ขึ้นมาใส่ในเรื่องเอง โดยจินตนาการถึงรสชาติว่าเหมือน “บัตเตอร์สก็อตช์ที่มีความเลี่ยนเล็กน้อย

สำหรับโลกนอกจักรวาลพ่อมดนั้น Butterbeer ของแท้จะมีขายที่ The Wizarding World of Harry Potter ในสวนสนุก Universal และ Harry Potter New York โดยเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวต้องลิ้มรสเคล้าบรรยากาศของสวนสนุก สร้างประสบการณ์อีกหนึ่งรูปแบบให้กับผู้ที่หลงใหลในโลกเวทย์มนต์

Photo Credit: Reddit

กาแฟ โดนัท และตำรวจอเมริกันในภาพยนตร์

ตำรวจร่างอ้วนถือกาแฟในถ้วยกระดาษ พร้อมโดนัทเคลือบน้ำตาล เป็นภาพจำอย่างหนึ่งในภาพยนตร์อเมริกัน ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด หน่วยไหน ก็จำเป็นต้องมีอาหารว่างคู่ใจนี้ประกอบอยู่เสมอ

Paul Mullins ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยอินเดียนา และผู้เขียนหนังสือ Glazed America: A History of the Doughnut กล่าวกับนิตยสาร TIME ว่า ภาพจำของเจ้าหน้าที่ตำรวจร่างอ้วนดื่มกาแฟเข้มๆ และโดนัทเคลือบน้ำตาล เป็นสิ่งที่เพิ่งประกอบสร้างขึ้นไม่นาน โดยย้อนกลับไปในอดีตตำรวจจะมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และกินเวลาไปถึงช่วงดึกหรือเช้ามืด จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ร้านโดนัทที่เปิดช่วงเช้าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเขตเมืองใหญ่ๆ และแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ร้านประเภทนี้กลายเป็นแหล่งอาหารราคาถูกในยามยากของตำรวจที่ทำงานล่วงเวลา

นอกจากนี้ Mullins ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากโดนัทจะมีราคาถูกแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีกฎห้ามรับของฟรีขณะที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น จึงสมเหตุสมผลที่พวกเขาจะใช้เงินของตัวเองไปกับอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาเข้าถึงได้อย่างกาแฟและโดนัท

แม้ทุกวันนี้จะมีร้านอาหารโต้รุ่งจำนวนมากและหลากหลายกว่าในอดีต แต่ภาพจำเกี่ยวกับตำรวจ กาแฟ และโดนัท ยังคงถูกหยิบมาใช้เรียกเสียงหัวเราะให้กับคอภาพยนตร์อยู่เรื่อยๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นมุกคลาสสิกของโลกภาพยนตร์อเมริกันไปแล้ว