HighEQ

ไซคีเดลิคเพื่อการแพทย์!เมื่อแดนจิงโจ้นำร่องปลดล็อกไซคีบำบัดที่แรกของโลก

เหล่านักวิชาการคงต้องพากันเกาหัวเมื่อหน่วยงานที่กำกับ และควบคุมการใช้ยาของ ประเทศที่อนุรักษ์นิยมสุดๆ อย่างออสเตรเลีย อนุมัติการขอใช้ศาสตร์ด้านไซคีเดลิคที่เกี่ยวกับการหลอนประสาท ร่วมในกระบวนการบำบัดคนไข้ แน่นอนว่า ไซโลไซบิน (Psilocybin) ซึ่งสามารถพบได้มากในเห็ดเมา และ MDMA หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ยาอี’ (Ecstasy) นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปัจจุบัน แต่ทางหน่วยงานบริหารสินค้ารักษาโรคของออสเตรเลีย (Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) ยืนยันว่า การใช้สารเหล่านี้ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำสั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มันจะสามารถต้านภาวะซึมเศร้า และโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) ได้ ด้วยการทำให้คนไข้หลุดพ้นจากความรู้สึกนึกคิด และลืมเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาวะ PTSD ไปได้ชั่วขณะ 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศออสเตรเลียจึงประกาศตนเองอย่างภาคภูมิใจว่าจะเป็นประเทศแรกของโลก ที่จัดให้ไซคีเดลิคเป็นยาประเภทหนึ่งอย่างถูกกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ 

Photo Credit: BBC for Marjane and Glen

ทั้งนี้สรรพคุณของไซคีเดลิคนั้นไม่ได้ถูกอ้างขึ้นมาลอยๆ เพราะมีสองกรณีตัวอย่างที่ได้รับการบำบัดโดยไซคีเดลิค กรณีแรกในปี 2017 มาร์เจนเนอ โบชัวส์ (Marjane Beaugeois) หญิงกลางคนวัย 49 ปีที่สามารถกลับมามีความสุขกับการมีชีวิตของเธออีกครั้งหลังจากสูญเสียทั้งคุณแม่ คุณยาย และคนรักของเธอไปภายในสองเดือน และอีกหนึ่งกรณีของเกลน บอยส์ (Glen Boyes) ทหารผ่านศึกวัย 33 ปีที่อาศัยในซิดนีย์ ที่มีสามารถฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้าค่อนข้างรุนแรงซึ่งเป็นผลมาจากช่วงเวลาแย่ๆ ในสงครามและเขาก็ดันมาจมปลักอยู่กับที่เพราะการระบาดของโรค COVID-19

ท่ามกลางเสียงชื่นชม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอย่าง ดอกเตอร์ คอลลีน ลู (Dr. Colleen Loo) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และสถาบันแบล็กด็อกในซิดนีย์ ออสเตรเลีย เชื่อว่าผลที่ได้เป็น ‘ผลเชิงซ้อน’ จากการใช้ไซคีเดลิคร่วมกับจิตบำบัดไม่ใช่การเข้าไประงับสารสื่อประสาทโดยตรง ซึ่งอาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี และเจมส์ รักเกอร์ (James Rucker) อาจารย์ผู้บรรยายของมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในกรุงลอนดอน ถามหาเหตุผลที่ทำให้ไซคีเดลิคเป็นข้อยกเว้นเพื่อการบำบัด ในเมื่อเราก็รู้ๆ กันว่ามันสามารถส่งผลข้างเคียงต่อระบบประสาท มันอาจพลิกชีวิตคนไข้บางคนให้ดีขึ้น แต่นั่นก็ไม่เสมอไป 

Photo Credit: Statnews

ถึงแม้ว่าไซคีเดลิคจะถูกกฎหมายแต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายด้วยเหตุผลด้านราคาที่อยู่ที่ 10,000 - 15,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณสองแสนบาทไทย และมีองค์กรสุขภาพขนาดใหญ่บางส่วนที่เห็นต่างด้วยความเสี่ยงในการใช้งานและผลข้างเคียงของมัน แต่ทางผู้เชี่ยวชาญทางออสเตรเลียก็ยังให้ความสำคัญและเชิดชูไซคีเดลิคอย่างไม่หยุดหย่อน ทางอาจารย์รักเกอร์จึงเป็นห่วงเรื่องคลินิกที่จะฉกฉวยผลประโยชน์จากคนไข้เป็นพิเศษ เพราะผู้คนกำลังให้ความสนใจกับการบำบัดประเภทใหม่นี้อย่างมาก

อ้างอิง

World-first Psychedelic Therapy

Australia Prescribe Psychedelics for Patients

New Era of Psychedelic Medicine