"คน ผี ป่า" ความเชื่อปะเกอกะญอ บ้านเมืองแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน เพราะเป็นความเชื่อของ ชนเผ่ากระเหรี่ยง บ้านเมืองแพม ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ เสรี ศักดิ์คีรีงาม ตัวแทนหมู่บ้านที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อความศรัทธาที่เกี่ยวข้องกันระหว่าง "ผีกับป่า" โดยเขาถูกส่งต่อความเชื่อและความศรัทธาอันแรงกล้าเหล่านั้นจากบรรพบุรุษ..ถึงรุ่นสู่รุ่น

เสรี ศักดิ์คีรีงาม

“ผีป่า ผีดิน ผีน้ำ ผีบรรพบุรุษ ผีสัตว์ป่า เป็นเรื่องของคนกับป่า ความเชื่อแต่ละอย่างจะส่งผลต่อจิตใจของคน ทำให้มีแรงศรัทธาและความเชื่อไปในแนวเดียวกัน ถ้าเราดูแลป่าดี ป่าก็จะดูแลเราดี มีให้เราใช้ตลอดไป”

มองไม่เห็นด้วยตาแต่สัมผัสได้ด้วยแรงศรัทธา

"เราเชื่อและศรัทธาสิ่งเหล่านั้นว่ามันมีอยู่จริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ทำแล้วเห็นผลจริง แต่ไม่สามารถสัมผัสโดยตรงว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ได้จริง คิดว่าน่าจะเกิดจากแรงศรัทธาที่เราชื่อมั่น ถ้าเชื่อมากเราก็สามารถทำอะไรได้ เหมือนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้แก่ผู้คน เวลาทำงานและปฎิบัติพิธีกรรมต่างๆ ก็เหมือนกับเราปลูกว่าน รดน้ำส้มป่อย น้ำขมิ้น (เปรียบเหมือนน้ำมนต์) เวลามีวัดพระใหญ่ก็จะรดน้ำเหล่านี้ ดูแลเขาให้ดี เพื่อให้เขาดูแลเราได้"

พิธีขอขมาผีป่าผีทาง

พิธีกรรมสำคัญของชาวปะเกอกะญอ บ้านเมืองแพม

"มี 2 ส่วนสำคัญ คือ พิธีกรรมที่ทำเป็นประจำ ถือเป็นภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น เลี้ยงผีข้าว เลี้ยงผีฝาย เลี้ยงผีหมู่บ้าน ทำพิธีปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน อีกส่วนคือ พิธีกรรมตามเฉพาะกิจไป เช่น คนไม่สบาย ต้องทำพิธีกรรมแบบนี้นะ มีสิ่งไม่ดีเข้ามาต้องมีพิธีกรรมแบบนี้นะ แบ่งย่อยเป็นรายบุคคลบ้าง รายครอบครัวบ้าง แต่หลักๆ ที่มีทุกวันนี้คือ พิธีกรรมผูกข้อมือประจำปี โดยปีหนึ่งจะมี 2 ครั้ง เป็นการช่วยสะเดาะเคราะห์ ขอพรจากผีบรรพบุรุษ ขอพรป่าเขา และเป็นการขอบคุณ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ผีป่า ผีน้ำ สร้างผลผลิตทางเกษตรกรรมขึ้นมาให้เรา อีกพิธีกรรมคือ เลี้ยงผีบ้านผีเรือนและเจ้าเมืองในหมู่บ้าน จะทำปีละ 1 ครั้ง ในทุกๆ ปี"

พิธีผูกข้อมือ

เครื่องลางของขลัง

"ปัจจุบันที่ยังมีอยู่และยังใช้จริงของคนกะเหรี่ยงปะเกอกะญอหลักๆ คือ เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมูป่า อย่างเขี้ยวเสือ หมายถึงเจ้าแผ่นดิน เป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ เขาทำหน้าที่คุ้มครองเราได้ เขี้ยวหมูป่าตัวผู้ที่โตเต็มวัย เขี้ยวของมันจะดีต่อการมีอยู่ในบ้านเรือน ช่วยป้องกันภูตผีปีศาจได้ทั้งหมด ด้วยความเชื่อที่หมูป่าเป็นนักล่าไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด หรือว่านป่า ที่เคารพบูชามาตั้งแต่บรรพบุรุษ นิยมปลูกบริเวณบ้าน มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปกป้องดูแลทุกคนในบ้าน"

พิธีการเลี้ยงผีน้ำ

ความเชื่อความศรัทธาที่ผสมผสานภูมิปัญญา

"ด้านภูมิปัญญาเป็นเรื่องการรักษาผี การท่องมนต์คาถา การทำพิธี การใช้เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวเสือ หรือเขี้ยวเล็บหมี อีกประเภทคือ ใช้สมุนไพรในป่า ที่มีมากว่าหลายร้อยชนิด เน้นใช้ส่วนของราก ยอด ใบ และดอก เช่น ดอกข่า ช่วยเรื่องการระบายท้องอืดท้องเฝ้อ รากขมิ้น ที่ปลูกตามชุมชนในทุกๆ บ้าน ช่วยเรื่องการเคลือบแผลในกะเพาะ รากฝรั่งและรากมะเฟือง ที่ปลูกในบริเวณบ้าน ช่วยระบบการย่อย โดยส่วนใหญ่จะทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน"

พิธีการเลี้ยงผีน้ำ

ฮีโข่ 

"คือผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ เป็นคนที่สืบทอดจากบรรพบุรุษปู่ย่าตายายโดยตรง ต้องเป็นลูกหลานของคนที่ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นคนแรกๆ ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นก็ได้ รวมถึงบุคคลที่ตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านเป็นคนแรก หรือ เจ้าของหมู่บ้าน โดยฮีโข่จะเป็นคนนำเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ และชาวบ้านจะปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นผู้นำชุมชนอีกคนหนึ่ง ผู้ที่จะเป็นฮีโข่ ต้องเป็นผู้ชาย เป็นลูกคนโตของฮีโข่ (หรือญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชายเท่านั้น) ผู้หญิงเป็นไม่ได้เพราะเป็นผู้นำพิธีกรรมเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ส่วนเรื่องระยะเวลา เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองไปทั้งชีวิต" 

“ผมเรียนปราบผีหรือไล่ผี เพราะต้องการช่วยเหลือตัวเอง และดูแลคนในครอบครัว รวมทั้งสืบทอดภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และอยากคงไว้ซึ่งความเชื่อความศรัทธาเหล่านั้น ไม่ให้สูญหายไป”

พิธีไล่ผีในหมู่บ้าน

ผีเข้า กับ คนไม่สบาย ?

"ผีเข้า (เรียกว่าผีกะ) เข้าสิงในตัวคน หรือ ผีของอีกคนไปเข้าอีกคน คำพูดของเขา ลักษณะท่าทาง การกระทำจะเหมือนผีหมดเลย วิธีการแก้คือใช้หมอผีแก้ ท่องคาถา พ่นน้ำมนต์ที่หมอผีทำขึ้นเอง เพื่อไล่ผี ซึ่งมันเห็นผลได้จริง โดยตอนนี้เริ่มมีคนสืบทอดเรื่องการท่องมนต์ เพื่อเรียนรู้และแยกแยะอาการต่างๆ และผีเข้า เป็นศาสตร์ของปะเกอกะญอเอง เพื่อเป็นหมอผี ซึ่งคนที่จะเรียนต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป เรียนจากคนที่เป็นมาแล้ว โดยใช้เวลาเรียนเป็นสิบๆ ปี" 

“ผีมีอยู่จริง เราอาจมองไม่เห็น แต่ความรู้สึกเราสัมผัสได้ ถามว่ากลัวไหมกลัวครับ ตามศาสตร์ที่เรียนมาถ้าเราไม่คิดร้ายกับเขาก็ไม่เป็นไร เพราะความกลัวเป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเอง”

พิธีเลี้ยงผีไร่ผีนา

ประสบการณ์หลอน ตอนที่ 1

"เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผมเข้าป่าไปกับแฟน แต่แฟนเขาฉี่ในป่า อาจไปฉี่โดนที่เจ้าที่ พอจะกลับบ้านในช่วงเย็นแฟนเดินนำหน้าตลอดจนเขาล้ม ซึ่งช่วงนั้นเป็นหน้าฝนด้วย ผมเห็นเขาลุกขึ้นมา จากนั้นผมก็ล้มตาม พอผมลุกขึ้นมาแฟนหาย เดินตามไปจนถึงถนนใหญ่ก็ไม่เจอ ในใจคิดว่าเขาน่าจะนั่งมอเตอร์ไซค์ไปกับญาติพี่น้องเขา แต่พอกลับถึงบ้านปรากฎว่าไม่เจอ จึงพาชาวบ้านออกตามหาในบริเวณที่เขาหายไป จนใกล้มืดก็ยังไม่เจอ ผมเลยขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่าเจ้าเขาว่า ขอให้แฟนปลอดภัย ให้เขากลับมาบ้าน และให้เราเจอเขา ผมจะทำพิธีเลี้ยงหมู เลี้ยงเหล้า พูดไม่ถึง 5 นาที ก็มีคนโทรมาบอกว่า แฟนกลับมาถึงบ้านแล้ว! สภาพตอนนั้นเหมือนคนที่เหนื่อยและอ่อนเพลียมาก นอนยาว 3 วัน ถึงกลับมาปกติ พอเขากลับเขาเล่าว่าคนที่เดินตามหาเขาเดินผ่านไปมาแต่มองไม่เห็นเขาสักคน หลังจากนั้นก็ทำพิธีตามที่ขอไว้ โดยให้คนเฒ่าคนแก่เป็นสิบๆ คนทำพิธี"

ประสบการณ์หลอน ตอนที่ 2

"เมื่อปลายปีที่แล้ว มีหมู่บ้านหนึ่งที่ห่างจากหมู่บ้านผม ลูกชายคนเดียวของบ้านหายไปโดยที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งวันที่หายไปเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่พ่อของเขาเสียชีวิต ทุกวันนี้ผ่านมาเกือบปีก็ยังหาไม่เจอ ใช้ทั้งตำรวจทหาร ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าพื้นที่ ใช้เฮลิคอปเตอร์ บินโดรน ทำทุกอย่างแต่ก็ไม่เจอร่องรอย ใช้หมอผีทำนายทายทักทั้งหมด 3 คน หมอก็พูดเหมือนกันหมดเลยว่า ไม่รู้สาเหตุการหายตัวไปและหายังไงก็หาไม่เจอ ใช้คนเป็นร้อยหา 2-3 วันก็ยังไม่เจอ แต่ในเรื่องของกระบวนการกฎหมายก็ยังดำเนินการตามหาต่อไป โดยใช้เวลาหาทั้งหมดประมาณ 12 วัน ทุกวันนี้แม่เขาก็เฝ้ารอและหวังว่าลูกจะกลับมา เคสนี้เลยสันนิษฐานว่า ตอนที่เด็กคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาพูดจาไม่ค่อยจาดีกับพ่อ พ่อเขาน่าจะเอาตัวเขากลับไป! เพราะตอนพ่อเขาตาย ก็ตายด้วยการผูกคอตาย สาเหตุคือ น้อยใจคำพูดของลูก"

ชุมชนเมืองแพม 80% นับถือศาสนาพุทธ อีก 20% เป็นคริสเตียน โดยมีเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาและภูมิปัญญาของปะเกอกะญอเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาเห็นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยแก่นแท้ของความเชื่อและความศรัทธาเหล่านี้คือ การรักษาไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังทำเพื่อดำรงไว้ อีกทั้งยังเป็นการยอมรับความเป็นไปของธรรมชาติ ซึ่งหากไม่มีเรื่องราวเหล่านี้ อาจไม่มีวัฒนธรรม เผ่าพันธุ์ และที่ทำกินของตัวเองของชาวปะเกอกะญอมาจนถึงทุกวันนี้

โควิดเกิดผลดีกับคนในชุมชน!

"เกิดความพร้อมเพรียงและความรักใคร่ของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น ในเรื่องการยอมรับภูมิปัญญาและการประกอบพิธีกรรมต่างๆ และพิธีกรรมการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในหมู่บ้าน รวมทั้งปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายข้างนอกไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน เราจะทำพิธีความเชื่อของเราเพื่อป้องกันโควิด ซึ่งโชคดีตอนนี้ที่ชุมชนยังไม่มีคนติด พอมีโรคนี้ทำให้คนรุ่นหลังเห็นว่าบรรพบุรุษเขาเป็นแบบนี้ จึงทำให้เขาได้สัมผัสและให้ความร่วมมือกับชุมชนเป็นอย่างดี ซึ่งมันเกิดขึ้นจริง และคนรักสุขภาพมากขึ้น ใช้สมุนไพรมากขึ้น"

พิธีปัดเป่าสิ่งไม่ดีและปกป้องชุมชนให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

ปัจจุบันเริ่มมีคนให้ความสำคัญและตระหนักเรื่องวัฒนธรรมภูมิปัญญาของตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะไม่อยากให้เลือนหายไป ผ่านการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองและถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้คนภายนอก โดยมีเรื่องการศึกษาเข้ามามีบทบาท ทำให้เข้าถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญหาท้องถิ่น ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

นอกจากนี้ เสรียังทิ้งท้ายอีกด้วยว่า "ผมเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีคนให้ความศรัทธาและสนใจเรียนรู้ภูมิปัญญาความเชื่อของปะเกอกะญอมากกว่าปัจจุบัน ด้วยแนวโน้มจากสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด หลายคนในชุมชนเริ่มกลับมาอยู่บ้านเกิดตัวเอง เรียนรู้เรื่องการทำไร่ทำสวน ผมว่ามันจะกลับมาเยอะกว่าเดิมและจะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน"