
สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว ด้วยการปราบปรามกัญชาครั้งใหญ่ตลอด 10 ปี และการใช้สารเคมีในเกษตรกรรม ความนิยมในพืชกัญชาก็เสื่อมถอยลง ในตอนนี้เรามาดูกันว่า เมื่อกัญชาถูกกดให้ลงมาอยู่ใต้ดินส่วนที่ลึกกว่าเดิมนั้น เส้นทางการเอาตัวรอดของมันจะเป็นอย่างไร
การปลูกกัญชาในร่มหรือระบบปิดได้เริ่มขึ้นจริงจังในช่วงต้นยุค 80’s เมื่อไม่มีกัญชาลักลอบเข้ามาจากเม็กซิโก และได้มีการทำลายล้างไร่กัญชาในประเทศอย่างหนัก กัญชาก็เริ่มขาดตลาด ผู้คนจึงต่างหลบซ่อนตำรวจด้วยการใช้วิธีปลูกในร่ม กลุ่มผู้ค้าเองก็ต้องหาทางเลี้ยงชีพและปลูกกัญชาในพื้นที่ซึ่งมีขนาดเล็กลงเช่นเดียวกัน

นักปลูกหลายคนต้องผันตัวเข้าสู่การปลูกระบบปิดพร้อมกับไฟและอุปกรณ์เสริมต่างๆ มีการลักลอบปลูกภายในอพาร์ทเมนท์ โกดัง โรงเก็บรถ ห้องใต้ดิน ห้องใต้หลังคา ฯลฯ ผู้ปลูกทุกคนเริ่มให้ความสำคัญต่อการความคุมสภาพแวดล้อมเป็นพิเศษ และอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการปกปิดให้มิดชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลิ่น อุณหภูมิความร้อน หรือค่าไฟที่สูงจนผิดสังเกต
ในยุคเดียวกันจนถึงปี 90’s ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ มี 2 เหตุการณ์ที่ได้สร้างกระแสการปลูกกัญชาในระบบน้ำ นั่นก็คือการตีพิมพ์บทความจากนิตยสาร “High Times” ฉบับเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 1982 “Do it Yourself Hydroponics” ที่แนะนำวิธีการปลูกกัญชาในระบบน้ำ และในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1995 “The Great Hydro vs. Bio Debate” ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเหล่านักปลูกชาวอเมริกันและดัทช์ เกี่ยวกับการปลูกแบบใช้ดินกับไม่ใช้ดิน


Photo credit: High Times
ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1995-1996 โลกออนไลน์ก็เริ่มเป็นที่นิยมและได้ช่วยจุดประกายแบ่งปันข้อมูลการปลูกกัญชาผ่านเว็บบอร์ด รวมถึงฟอรั่มออนไลน์ เหล่านักปลูกจึงได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องปัญหา แชร์ประสบการณ์ และแนะนำเทคนิคการปลูกใหม่ๆ ด้วยกัน
อีกหนึ่งข่าวดังในปี ค.ศ. 1997 ก็คือการที่ NASA ทำวิจัยเรื่องการปลูกแบบระบบน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกในการปลูกบนพื้นที่ไร้ดินหรือพื้นที่จำกัดโดยปราศจากแรงโน้มถ้วง และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากด้วยเทคนิค ‘Aeroponics’ (ระบบรากอากาศ) ข่าวนี้ได้สร้างความมั่นใจของการปลูกแบบแบบใหม่ ซึ่งในช่วงปฏิบัติการ “Green Merchant” รัฐก็ได้เข้ามาข่มขู่และสอบสวนนักวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์อีกด้วย

มีนักปลูกกัญชาจำนวนมากที่ให้ความสนใจในการปลูกแบบระบบน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตอากาศหนาว ถึงแม้ว่าช่วงแรกจะยังมีการลองผิดลองถูก แต่หลายคนก็พบกับผลลัพธ์ที่น่าพึ่งพอใจ ด้วยจำนวนผลผลิตที่สูง พืชโตเร็วขึ้น ไม่มีปัญหาเรื่องโรคหรือศัตรูพืช ฯลฯ หากนักปลูกมีความเข้าใจและความสามารถในการกำหนดระบบน้ำ การปลูกวิธีนี้ก็เป็นลงทุนที่คุ้มค่า โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของกัญชา
กระแสนิยมการปลูกกัญชาในระบบน้ำ หรือที่เรียกกันว่า ‘ไฮโดรโปนิกส์’ (hydroponics) เป็นการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินที่สามารถปลูกภายในร่มและในโรงเรือนได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยทำให้ได้ผลผลิตเยอะขึ้นในระยะเวลาอันสั้นลง รวมไปถึงทางเลือกของการปลูกพืชไร้ดิน (soilless culture) ที่ใช้วัสดุอื่นในการปลูกแทนดิน เช่น ใยมะพร้าว (coco noir) เม็ดดินเผา (pebbles) ใยหิน (rockwool) เป็นต้น

ซึ่งระบบน้ำแบ่งจะออกเป็น:
- Drip irrigation (ระบบน้ำหยด)
- NFT (Nutrient Film Technique)
- Deep water culture (ระบบน้ำลึก)
- Ebb & flow (ระบบ flood and drain)
- Aeroponics (ระบบรากอากาศ)
- Aquaponics (ระบบปลูกพืชและเลี้ยงปลา)
ระบบที่นิยมใช้ปลูกกัญชามักจะเป็น NFT และ Drip irrigation ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับนักปลูกรุ่นแรกๆ เพราะใช้น้ำและปุ๋ยน้อยกว่าระบบอื่น ส่วน Aeroponics นั้นจะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ปลูกเชิงพาณิชย์เสียส่วนใหญ่
ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ฉันปลูกได้ไหม
ว่ากันว่า หลังจากที่นักปลูกหลายคนเริ่มหันหน้าเข้าสู่การปลูกระบบปิด นักปลูกชาวดัทช์และชาวอเมริกันก็ช่วยกันคิดค้นวิธีการที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มากที่สุดจากพื้นที่จำกัด ด้วยเทคนิค Sea of Green (SOG) ซึ่งเป็นหนึ่งในการเทรนกัญชาแบบความเครียดต่ำ รู้จักกันในชื่อ LST (low-stress training)

เทคนิคนี้มาพร้อมกับโจทย์ครั้งใหญ่ เมื่อทุกคนต้องปลูกกัญชาในพื้นที่อันมีจำกัด แต่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างผลผลิตที่มากขึ้นได้ วิธีการปลูกนี้ใช้พืชขนาดเล็กจำนวนมาก แทนที่จะเป็นพืชขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ต้น และตั้งใจให้ระยะทำใบเลี้ยงสั้น เพื่อเน้นให้ช่อดอกหลัก (cola) โตอย่างเดียว
SOG สามารถทำได้ โดยจัดพืชจำนวนมากไว้ด้วยกันภายใต้แสงไฟประดิษฐ์ หากปลูกด้วยเมล็ดเพศเมีย (feminized seed) เมื่อพ้นระยะเพาะเมล็ด (germination stage) ก็สับเปลี่ยนไฟเป็น 12/12 ทันที เพื่อเร่งให้พืชเข้าสู่ระยะทำดอก (flowering stage) แต่หากเริ่มจากต้นกิ่งชำ ก็ควรรอให้ต้นมีอายุสัก 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงสับเปลี่ยนไฟให้เข้าสู่ระยะทำดอก

สิ่งสำคัญคือการทำให้ระยะเลี้ยงใบ (vegetative stage) สั้นที่สุด เมื่อพืชเติบโตไปด้วยกัน พวกมันจะพัฒนากลายเป็นพุ่ม ทำให้เกิด "ทะเลสีเขียว" โดยมียอดช่อตัวเมียโตเป็นหลัก
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือการใช้กัญชาสายพันธุ์เดียวกัน (อินดีก้าจะเป็นทางเลือกที่ดี ด้วยลักษณะต้นที่อ้วนป้อมและมีระยะเวลาทำดอกที่สั้น) และจะดีเป็นอย่างยิ่งหากใช้กิ่งชำ (clones) จากต้นแม่พันธุ์เดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกต้นจะเติบโตในลักษณะที่คล้ายกัน

“การปลูกพืชที่เหมือนกันเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เทคนิค SOG ประสบความสำเร็จ”
นักปลูกเห็นว่าการปลูกพืชขนาดเล็กโดยใช้วิธี SOG จะทำให้พวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากและเร็วขึ้น ในขณะที่สามารถประหยัดค่าน้ำ ปุ๋ย แรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปในเวลาเดียวกัน
Disco & Cocaine
ในช่วงรอยต่อระหว่างยุค 70’s-80’s มียาเสพติดในรูปแบบใหม่ที่ระบาดอย่างหนักในประเทศสหรัฐฯ นั่นก็คือ ‘โคเคน’ (cocaine) ซึ่งแพร่หลายในสังคมชั้นสูงและเหล่านักธุรกิจบนวอลสตรีท พวกเขามักจะเล่นยาและเต้นรำไปกับดนตรีดิสโก้ ปาร์ตี้หรูหราในยามราตรี แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือการกลับมากับการระบาดของ ‘แคร็ก’ (crack) ซึ่งก็คือโคเคนในรูปแบบก้อนแข็งที่สามารถสูบได้อย่างเดียว มันขายและส่งต่อได้ในปริมาณที่น้อย ราคาไม่แพง และเข้าสู่ชุมชนเล็กๆ ได้ง่าย (โคเคนสามารถดม สูบ ฉีด และกินได้ จึงมีราคาที่สูงกว่า)

นโยบาย “War on Drugs” ส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง คนผิวขาวหรือนักธุรกิจวอลสตรีทหากถูกจับในข้อหาเสพโคเคน เขาจะได้รับความช่วยเหลือและโอกาสในการใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง แต่คนผิวดำได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม อาจจะมีสิทธิ์ติดคุกตลอดชีวิต ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์จองจำมวลชนในปริมาณมหาศาล (mass incarceration)
แร็ปเปอร์ในยุคนั้นอย่าง Grandmaster Flash, Pubic Enemy, RUN DMC, Brand Nubian ต่างร้องเพลงประจานสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ และร้องถึงการระบาดของแคร็กในชุมชนคนผิวดำในช่วงเวลาที่รัฐบาลมองข้ามปัญหานี้อย่างจงใจ กลับกลายเป็นว่าวงการฮิปฮอปช่วยกระจายข่าวเรื่องยาที่กำลังเกิดในชุมชนได้ดีกว่ารัฐบาลเสียอีก

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับยาเสพติด (รวมไปถึงกัญชา) แต่กลับมีการร้องแร็ปถึงการใช้ปืน ดื่มเหล้า และมีเนื้อหาเหยียดเพศอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้เพลงแร็ปที่แต่งถึงกัญชาก็ยังมีบ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากหลายคนยังไม่กล้าที่จะออกมาเป็นกระบอกเสียง
ในช่วงรอยต่อเข้าสู่ยุค 90’s รายการ MTV ได้กลายเป็นพื้นที่ให้นักร้องมีอิสระในการแสดงออก เห็นได้ชัดจากวงการดนตรีฮิปฮอปกับอัลเทอร์เนทีฟที่เริ่มร้องเพลงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่

จากดนตรีแจ๊สในยุค 20’s ที่มักเล่นคำหรือใส่ศัพท์สแลงไปในบทเพลงสู่ดนตรีร็อคในยุค 60’s กับการเคลื่อนไหวของเหล่าฮิปปี้บุปภาชน และต่อมาในยุค 80’s กับดนตรีเร้กเก้และความเชื่อลัทธิรัสตาฟาเรียน การส่งต่อ (จ๊อยนท์) กัญชาเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในกลุ่มดนตรีฮิปฮอปฝั่ง West Coast
จุดเริ่มต้นอยู่ในปี ค.ศ. 1991 รัฐแคลิฟอร์เนียกับ “Cypress Hill” (สมาชิกวงประกอบด้วย B-Real, Sen Dog, DJ Muggs) ศิลปินฮิปฮอปกลุ่มแรกของฝั่ง West Coast ที่ออกมาร้องแร็ปถึงกัญชา ความโด่งดังของวงการันตีด้วย 2 อัลบั้มยอดขายทะลุ 1 ล้านชุดกับเพลงฮิตอย่าง “Insane in the Brain” และ “Hits from the Bong”

“โชคดีว่า (ในวงการนี้) หากคุณทำผลงานในฐานะคนสูบหรือใช้กัญชา มันก็ยังมีคนให้ความสนใจ และเปิดโอกาสให้เราได้ส่งเสียงออกไป”
– B-Real
ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1993 วง Cypress Hill ก็ได้รับเชิญให้ไปแสดงสดในรายการ Saturday Night Live และหนึ่งในสมาชิก ‘DJ Muggs’ ก็ตัดสินใจจุดจ๊อยนท์สูบกลางโชว์ พร้อมพูดผ่านไมโครโฟนว่า “โย่ว นิวยอร์กซิตี้ พวกเขาแม่งบอกห้ามเราจุดจ๊อยนท์บนเวทีว่ะ แต่ก็นะ... พวกเราคงไม่ทำตามหรอก” และถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นจะทำให้ Cypress Hill ถูกแบนตลอดชีพจากรายการ พวกเขาก็ได้สร้างกระแสตอบรับที่ดีจากคนดู
https://www.youtube.com/watch?v=lAtfFb3wBdI
Cypress Hill ได้จุดประกายการแร็ปด่ารัฐบาลและการเมากัญชา สร้างเทรนด์ของเนื้อหาที่แร็ปเปอร์รุ่นต่อไปๆ ต่างก้าวเท้าตาม พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ทำเพลงถึงกัญชา แต่ยังเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหว และเป็นกระบอกเสียงผลักดันให้กัญชาเพื่อการแพทย์และเพื่อสันทนาการถูกยอมรับในสังคมวงกว้างอีกด้วย แม้กระทั่งอัลบั้มล่าสุด “Back in Black” ที่ปล่อยออกมาในปี ค.ศ. 2022 ก็ยังไม่วายแต่งประชดประชันรัฐบาลที่ไม่ยอมเปิดเสรีผ่านเพลง “Open Ya Mind”

“กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเรา และเราอยากให้มันกลับมาถูกยอมรับในสังคมอีกครั้ง” – Sen Dog
West Coast ‘Hydro & Chronic’
เมื่อเข้าสู่ยุค 90’s อย่างเต็มตัว อุตสาหกรรมกัญชาในระบบการปลูกแบบใหม่ทั้งในร่มและไฮโดรโปนิกส์ก็ได้ตอบโจทย์กลุ่มผู้ปลูกรายเล็ก รวมถึงผู้ค้ารายใหญ่ที่ต้องการแข่งขันกับกัญชาลักลอบคุณภาพต่ำในเวลานั้น
เห็นได้ชัดจากดอกกัญชาที่ลักลอบเข้ามากับดอกกัญชาที่ปลูกผ่านระบบใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากดอกแห้งสีน้ำตาลที่มีเมล็ดและก้าน กลายเป็นดอกเหนียวสีเขียวกลิ่นหอมฉุน – โลกใบใหม่ของการสูบกัญชาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 1991 ‘Snoop Dogg’ เป็นคนริเริ่มคำว่า ‘Chronic’ ที่ใช้เรียกแทนดอกกัญชาเกรดสูงในเวลานั้น ซึ่งมาจากกัญชาที่ถูกปลูกในระบบ ‘hydro-POnics’ แต่เพราะว่าหูฝาด เขาจึงได้ยินว่า ‘hydro-CHROnic’
ศัพท์สแลง ‘Chronic’ ได้ท่องอยู่ในวงการฮิปฮอปจนไปเข้าหู ‘Dr. Dre’ ซึ่งได้นำมาเรียกอัลบั้มปี ค.ศ. 1991 ว่า “The Chronic” พร้อมกับรูปบนปกที่มาจากกระดาษโรลยี่ห้อ “Zig Zag” ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ออกแบบกระดาษโรลแบบมีรอยพับ (interleaving) และเป็นของติดตัวคนสูบกัญชาทุกคนในยุคนั้น

มีศัพท์สแลงที่พูดถึงระบบปลูกแบบใหม่อย่าง ‘Hydro’ หรือ ‘Dro’ และคำว่า ‘Endo’ (ที่เพี้ยนมาจาก indoor) ก็กลายเป็นอีกคำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในเพลงฮิปฮอปยุค 90’s
อาจจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่ากัญชาจะถูกยอมรับในสังคมวงกว้างอีกครั้ง แต่ในดนตรีแนวเพลงฮิปฮอปช่วงต้นยุค 90’s จาก Cypress Hill,