Culture

กับแกล้ม สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อถึงเวลาดื่มของคนไทย

วัฒนธรรมการดื่มของคนไทย มีลักษณะเฉพาะตัว ที่เป็นผลมาจากวัฒนธรรม สังคม และวิถีชีวิต การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีตั้งแต่ การดื่มเพื่อเข้าสังคมเป็นส่วนใหญ่ของประชากรชาวไทยเลยก็ว่าได้ โดยจะดื่มเนื่องในโอกาส เช่น งานเลี้ยง งานประชุม หรือ งานเทศกาลต่างๆ

แต่สิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยมีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์คือ ‘กับแกล้ม’ ในการดื่มเหล้า หรือ เบียร์ หากเป็นคนไทยจะขาดกับแกล้มไม่ได้ มีความเชื่อในบางกลุ่มว่า ‘เมื่อดื่มเหล้าก็ต้องมีกับแกล้มไม่งั้นเหล้าจะไม่อร่อย?’ เป็นสีสันของวัฒนธรรมการดื่มของคนไทย

Photo Credit: Disjobel USA

ข้อเท็จจริงของวัฒนธรรมการดื่มที่ต้องมีกับแกล้มคู่ด้วยนั้น มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วย

“การรับประทานอาหารระหว่างการดื่ม ส่งผลต่อร่างกายโดยตรง เพราะจะช่วยไม่ให้กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจากแอลกอฮอล์ หรือป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์กัดกระเพาะ และป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าไปสู่ร่างกายด้วยความเร็วที่มากเกินไป เนื่องจากว่ากระเพาะที่ว่างสามารถรับแอลกอฮอล์ได้ไวกว่ากระเพาะที่มีอาหารอยู่”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเมื่อคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีกับแกล้ม แต่น้อยคนนักจะรู้ข้อเท็จจริงนี้และเลือกเชื่อในความคิดที่ว่ากับแกล้มทำให้เหล้าอร่อยขึ้น แต่ความคิดนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะมันคือการจับคู่อาหารอีกหนึ่งประเภท การที่ได้รับความรู้สึกอร่อยมากยิ่งขึ้นเมื่อดื่มเหล้าคู่กับกับแกล้มจึงไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง

เห็นถึงความสำคัญของกับแกล้มในวัฒนธรรมการดื่มของไทยแล้ว แต่ว่าผู้อ่านรู้ไหวว่ากับแกล้มไม่ได้ถูกคิดค้นที่ประเทศไทย เราเพียงได้รับเข้ามาจากวัฒนธรรมประเทศอื่น

Photo Credit: オリーブオイルをひとまわし

ที่มาของ ‘กับแกล้ม’

คำว่า ‘กับแกล้ม’ บินมาจากประเทศแห่งปลาดิบ แดนอาทิตย์อุทัย ‘ประเทศญี่ปุ่น’ โดยคำว่ากับแกล้มในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า ‘ซากานะ さかな’ มีความหมายว่า ‘ปลา’ ในความหมายกว้างๆ สามารถใช้เพื่ออธิบายอาหารทะเลหรือสัตว์น้ำได้ด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะที่มีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ และมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับปลาและอาหารทะเล ดังนั้นปลาจึงเป็นอาหารหลักในญี่ปุ่น ได้รับการปรุงรสและบริโภคในรูปแบบต่างๆ

แต่ทำไมคำว่า ซากานะ ที่แปลว่าปลาถึงมีความหมายว่ากับแกล้มด้วย มันเป็นเพราะว่าในอดีตตามที่เราบอกไปว่าปลาและอาหารทะเล มีความเชื่อมโยงกับประเทศญี่ปุ่นมากๆ เป็นทรัพยากรที่มีมากมาย พอประชาชนดื่มเหล้ากันก็มักจะนำปลามาเป็นวัตถุดิบเพื่อกินคู่ไปกับเครื่องดื่ม จึงเกิดเป็นกับแกล้ม ที่มีคำเรียกเดียวกับชื่อปลา

และด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม น่าจะเป็นต้นเหตุของการเผยแพร่จากญี่ปุ่นมาสู่ประเทศไทย ส่งผลให้วัฒนธรรมการดื่มของไทยต้องมีกับแกล้มคู่ไปด้วยมาจนถึงปัจจุบัน

Photo Credit: FUN! JAPAN

กับแกล้มของไทยที่เป็นนิยมคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจาก Mixer แล้วกับแกล้มก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะของผู้นิยมของมึนเมา ความชอบของคนไทยในกับแกล้ม จะนิยามว่ามันต้องเป็นอาหารที่ไม่หนัก อาหารเบา อย่างของทานเล่น พอดีคำ สามารถใช้มือกินได้ง่าย รูปแบบของพวกมันจึงออกมาอยู่ในลักษณะของถั่ว ขนมขบเคี้ยว ปลากรอบปรุงรส หรือ มันฝรั่งทอด ก็ได้

ความนิยมเครื่องดื่มของบ้านเราจะแบ่งได้ง่ายเป็น 2 ประเภทตามความนิยมหลักๆ ก็จะเป็นเครื่องดื่มประเภทเบียร์ และเครื่องดื่มประเภทเหล้า กับแกล้มที่กินคู่กับเครื่องดื่มทั้งสองประเภท ก็จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

Photo Credit: Foodal

กับแกล้มกินคู่กับเบียร์ยอดนิยม

ประเภทของเบียร์มีหลายแบบทำให้ความชอบในการจับคู่กับแกล้มแตกต่างกันไปด้วย

  1. เบียร์ประเภท Wheat ต้องจับคู่กับอาหารทะเล เนื่องจากเบียร์ประเภทนี้มีความหอม รสหวานเบาๆ แทรกด้วยรสเปรี้ยวปลายลิ้น ทำให้เหมาะสมกับอาหารทะเล โดยเราแนะนำให้ดื่มคู่กับ โป๊ะแตกทะเลเดือด, เย็นตาโฟหม้อไฟทะเล, ต้มยำทะเล
  1. เบียร์ประเภท Lager ต้องจับคู่กับอาหารที่มีรสครีม ส่วนมากจะไม่ค่อยได้รับความนิยมในประเทศไทยเพราะมันมีความเลี่ยนอยู่มาก เช่น สปาเก็ตตี้คาโบนาล่า
  1. เบียร์ประเภท Blonde Ale คอเบียร์ประเภทนี้เหมือนถูกสาปให้ดื่มคู่กับของทอดตลอดไป ด้วยเหตุผลที่ว่า Blonde Ale มีความสามารถในการตัดเลี่ยนได้ดี และสามารถลบล้างความมันออกจากลิ้นได้ อีกทั้งยังช่วยเปิดต่อมรับรสชาติได้อีกด้วย กับแกล้มที่คู่กับเบียร์ประเภทนี้จึงเป็นของทอด จำพวก มันฝรั่งทอด ไก่ทอด ข้อไก่ทอด หัวหอมทอด กุ้งทอด
  1. เบียร์ประเภท IPA จะมีลักษณะพิเศษคือรสชาติขม กับแกล้มที่เหมาะสมกันจึงเป็นอาหารประเภทหมู อย่าง หมูมะนาว
  1. เบียร์ประเภท Stout เป็นขวัญใจคอเบียร์สายรักสุขภาพ เพราะกับแกล้มที่เหมาะสมกับตัวมันคือผักย่าง ด้วยรสชาติความเข้มของเบียร์ประเภทนี้จะสามารถดึงรสชาติของผักออกมาได้อย่างลงตัว และเป็นทางเลือกของสายสุขภาพอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นส่วนของการกับคู่กับแกล้มของเบียร์ประเภทต่างๆ

Photo Credit: ดีกว่ากินดิน Eatdincooking

กับแกล้มกินคู่กับเหล้ายอดนิยม

ในส่วนของเหล้าจะไม่มีแบ่งประเภทใดๆ เพราะส่วนมากจะกินคู่กับแกล้มที่เหมือนๆ กัน

  1. ไก่สามอย่าง
  2. ถั่วต่างๆ
  3. ข้อไก่ทอด
  4. มันฝรั่งทอด
  5. หัวหอมทอด

กับแกล้มของเหล้าจะนิยมทานของที่เป็นของว่างมากกว่าเบียร์ เนื่องด้วยการดื่มเหล้าและเบียร์มีความรู้สึกที่ได้รับต่างกัน เบียร์จะเหมาะสมกับมื้ออาหาร หรือ ร้านนั่งที่พร้อมเสิร์ฟอาหารมากกว่า เหล้า ที่นิยมทานคู่กับของทานเล่นที่สามารถหยิบเข้าปากได้ง่าย

Photo Credit: KRUA.CO

แต่ใน 5 คู่ที่นิยมจะสังเกตได้ว่าส่วนมากจะเป็นของทอด และมีอยู่หนึ่งอย่างที่ชื่อเป็นสัตว์แต่ในเมนูไม่มีสัตว์ตัวนั้นอยู่คือ ‘ไก่สามอย่าง’ มันเป็นกับแกล้มสุดคลาสสิคของคนไทยเลย และมีที่มาที่ไม่ธรรมดา

ไก่สามอย่างตามความหมายในพจนานุกรม คือ “เครื่องกินแกล้มเหล้า มีกุ้งแห้ง ถั่วลิสง และตะไคร้เป็นหลัก อาจเพิ่ม ขิง หัวหอม หรือพริกขี้หนูเข้าด้วยก็ได้” มีข้อสันนิษฐานว่า ในวงการดื่มเหล้าสมัยก่อนเปิดครัวเจอวัตถุดิบอะไรก็จะเอามาทำเป็นของกินเล่นกัน แต่ละอย่างที่อยู่ในคำนิยามของไก่สามอย่าง ก็เป็นของที่อยู่คู่ครัวคนไทยอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาของความนิยมในอดีตส่งผลมาสู่ปัจจุบัน หรือ อีกที่มาหนึ่งเล่าว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื้อสัตว์หายาก ด้วยความอยากของคอเหล้าก็เลยมโนและสร้างสรรค์เมนูจาก กุ้งแห้ง ถั่วลิสง ตะไคร้ โดยเรียกมันว่าไก่แทนความอยากเฉยๆ

ถือว่าเป็นเสน่ห์ของกับแกล้มเลยกับไก่สามอย่าง คนรุ่นใหม่ที่ไม่คุ้นชิน อาจจะเคยเห็นเมนูนี้ที่ร้านเหล้าพอสั่งมากลายเป็นถั่ว กุ้งแห้ง และตะไคร้ ก็คงงงกับร้านไม่น้อย

Photo Credit: 3 Seas Europe

กับแกล้มไม่ได้หมายถึงอาหารเสมอไป!

กลับมาที่คำว่ากับแกล้ม ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับคำนิยามที่น่าสนใจอยู่อีก คือ กับแกล้มไม่ได้หมายถึงเพียงแค่อาหารเท่านั้น กับแกล้มยังสามารถหมายถึงกิจกรรมที่สามารถทำได้ในช่วงของการดื่มอีกด้วย เช่น การเล่นเกม การร้องเพลง การเต้น ใดๆ ก็ตามที่สามารถกระทำได้ในขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่จะถือว่าเป็นกับแกล้มทั้งสิ้น ขอแค่ว่าสิ่งเหล่านั้นสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้คนในขณะดื่มได้

เป็นอย่างไรกันบ้างกับวัฒนธรรมการดื่มของคนไทยที่ไม่สามารถขาดกับแกล้มได้ เมื่อสังเกตดูแล้วก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธยาก เพราะนิยามของคำว่า ‘กับแกล้ม’ ครอบคลุมความหมายของทุกสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ดื่ม ดังนั้น ทั้งอาหารและกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการดื่มของไทยมีเอกลักษณ์และโดดเด่นไม่เหมือนใคร

อ้างอิง

Casa Mio

Krua

Kabocha

Liqnine