เป็นเรื่องปกติของช่วงปลายปีแบบนี้ที่จะมี ‘เทศกาลงานเฟสติวัล’ เกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละเฟสติวัลก็มีความน่าสนใจของแนวเพลง สถานที่ บรรยากาศ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ผู้ร่วมงานได้สนุกสนานและได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่สิ่งที่พิเศษมากๆ ของปี 2023 นี้ก็คือ เมืองไทยกำลังจะมี DIAGE Festival” เทศกาลดิจิทัลอาร์ตและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นงานเทศกาลที่จะผสมผสานศิลปะและดนตรีเข้ากับเทคโนโลยีสุดล้ำสมัยเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็น “การเปิดประตูบานใหม่” ของงานเฟสติวัลสำหรับคนรักเสียงเพลงและดิจิทัลอาร์ต
เทศกาลน้องใหม่แบบนี้ แน่นอนว่า EQ ก็ไม่รอช้า ขอนั่งจับเข่าคุยกับ 3 ผู้สร้างสรรค์งาน DIAGE Festival สุดเจ๋งนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนได้อุ่นเครื่องรองานยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้!
จุดเริ่มต้น DIAGE Festival
DIAGE Festival ถือเป็นเทศกาลดิจิทัลอาร์ตและดนตรีอิเล็กทรอนิกแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกในเมืองไทย เป็นการยกระดับงานเทศกาลศิลปะและดนตรีขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ด้วยการผสมผสานภาพและเสียงเข้ากับเทคโนโลยีสุดล้ำ โดยแนท – ชัยภัทร์ พลับศิริ แกนนำผู้ก่อตั้ง ตัวแทนจาก SquareDots. สตูดิโอออกแบบงานมัลติมีเดีย เล่าว่าจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสและอยู่ในสายงานดิจิทัลอาร์ต เขารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีงานที่ว่าด้วยดิจิทัลอาร์ตและดนตรีเป็นของตัวเอง และปีนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของงานนี้
“ก่อนหน้านี้เวลาที่เราพูดถึงงานเฟสติวัลหรือความเป็นศิลปะ คนก็จะคิดถึงแกลอรี หรือถ้าเป็นงานดนตรีก็จะคิดถึง EDM แบบนั้นไปเลย แต่เรามองว่าหลังโควิด-19 กระแสความเป็นดิจิทัลอาร์ตมันบูมมากๆ ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย เราจะเห็นว่ามีหลายสถานที่เริ่มจัดแสดง Immersive Art หรือมีดิจิทัลอาร์ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เคยมีงานที่เป็นเทศกาลดนตรีดิจิทัลอาร์ตเกิดขึ้นเลย เราซึ่งมีประสบการณ์จัดงานเฟสติวัลและมีศักยภาพกันอยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจมาทำงานร่วมกัน และกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรจัดงาน DIAGE Festival ขึ้น” พลอย – ธันยพร สว่าง แห่ง ZUBSCRIBE หนึ่งในพันธมิตรจัดงาน กล่าว
ด้านนิว – ปฐมพล จันทร์อินทร์ จาก DECOMMUNE อันเดอร์กราวด์คลับและชุมชนดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ก็เล่าว่า “ตอนร้านอยู่ที่เดิม เราก็คิดจะทำอะไรประมาณนี้แหละ คือมีไอเดียที่จะทำ ตอนนั้นไปหาสถานที่กันแล้วด้วย แต่สุดท้ายก็สรุปว่าเรายังไม่พร้อม จากนั้นก็มีโควิด-19 เราก็เลยต้องพับโครงการไปโดยปริยาย พอหลังโควิด-19 เราก็คิดว่ามาทำงานนี้กันดีกว่า”
“คำว่า DIAGE มันมาจากสองคำคือ Digital Age หรือยุคของดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่จะทำเฟสติวัล กับคำว่า Diagenesis เป็นคำศัพท์ทางธรณีวิทยา แปลว่า กระบวนการก่อตัวใหม่และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใต้พื้นดิน ซึ่งเราอยากสื่อว่า เราอยากนำความเปลี่ยนแปลงที่ตอนนี้มันอยู่ใต้ดิน เป็น underground scene ขึ้นมาทำให้มันแมสให้ได้” แนทอธิบาย
เปิดใจมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในงาน
3 ผู้จัดงาน DIAGE Festival ยืนยันว่างานนี้จะไม่เหมือนกับงานเทศกาลดนตรีและศิลปะงานอื่นๆ ที่ทุกคนเคยสัมผัสอย่างแน่นอน เพราะงานในครั้งนี้จะสร้างประสบการณ์การรับรู้ทั้งภาพและเสียงให้มากขึ้น พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้คนฟังได้ร่วมพูดคุยและเวิร์คช็อปกับศิลปินอย่างใกล้ชิด
“งานวิชวลและดนตรีในงานนี้จะถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว แล้วยังมีพื้นที่พูดคุย ซึ่งศิลปินจะได้ขึ้นมาเล่าเรื่องราวเบื้องหลังก่อนที่เขาจะขึ้นทำการแสดง ว่ามันผ่านกระบวนการของการสร้างสรรค์มาอย่างไร หรือทำไมเขาอยากทำโชว์แบบนี้ ซึ่งปกติเราจะไม่ได้ฟังเรื่องราวพวกนี้เลย แต่ในงานนี้ เราได้โอกาสจากศิลปินหลายคนที่อยากขึ้นพูดหรือมาทำเวิร์คช็อป ซึ่งเราคิดว่าอันนี้มันค่อนข้างต่างจากงานอื่น” พลอยชี้
เมื่อถามถึงกลุ่มผู้ชมที่ผู้จัดคาดหวังเอาไว้ นิวบอกว่าพวกเขาคาดหวังเอาไว้กว้างมากๆ เพราะอยากเปิดกว้างให้ใครก็ตามที่สนใจงานดิจิทัลอาร์ต ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่สนใจทั้งสองอย่างนี้เลย ได้ลองเปิดใจมาสัมผัสงานเทศกาลน้องใหม่ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีไลน์อัพที่หลากหลายและน่าสนใจ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
“อย่างตัวงานที่นิยามว่าเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์หรอก จะเพลงแบบไหนหรือใช้เทคนิคอะไร มันก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่ทำด้วยเทคโนโลยีหรือทำด้วยคอมพิวเตอร์ เพราะทุกวันนี้ เพลงทุกเพลงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำอยู่แล้ว ก็เลยต้องบอกว่างานนี้จะมีเพลงหลายแนว ถ้าศิลปินสามารถทำโชว์ประกอบวิชวลหรือดิจิทัลอาร์ตได้ เราก็ถือว่ามางานของเราได้เหมือนกัน” แนทบอก
“สิ่งที่จะดึงคนเข้าามางานของเราน่าจะเป็นเรื่องเพลงนี่แหละ ถ้ามันมีเพลงที่ผู้ชมรู้สึกว่าเขาสัมผัสได้ เป็นเพลงที่ดี แต่เขาไม่ได้สนใจวิชวลอาร์ตเลยนะ แล้วเขาเปิดใจมางาน เขาก็จะได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน คือเป้าหมายใหญ่ของเราก็คืออยากให้คนที่หลากหลายได้แวะมาดูงานนั่นแหละ” นิวเสริม
สร้างคอมมูนิตี้ที่เป็นศิลปะ
“เป้าหมายของเราในปีนี้เลย คือเราต้องการเปิดโลกให้คนได้เข้ามาตรงนี้ ได้เข้ามาอยู่ในความเป็นดิจิทัลอาร์ต ความเป็นวิชวลอาร์ต เพราะมันเป็นสายที่ไปต่อได้เยอะมาก แล้วตอนนี้ก็มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามา เราก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนได้เข้ามาเจอกันหรือสนุกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในแวดวงนี้อยู่แล้ว หรือเป็นกลุ่มที่แมสแล้วอยากเข้ามาในพื้นที่ตรงนี้ แต่หาทางเข้าไม่เจอ เราก็อยากเป็นประตูบานนั้น” พลอยกล่าว
ไม่เพียงแต่ส่วนของ 3 เวทีการแสดงของศิลปินมากหน้าหลายตาทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงพื้นที่การพูดคุยและเวิร์คช็อปจากศิลปินที่มาร่วมงาน DIAGE Festival ยังมีพื้นที่นิทรรศการ แสดงผลงานวิชวลของศิลปินที่น่าจับตามองของเมืองไทย ทั้งศิลปินที่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี และศิลปินน้องใหม่ที่มีแววสามารถเติบโตบนถนนสายศิลปินได้ โดยเทศกาลนี้จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ปล่อยของ จัดแสดงงผลงานของตัวเองให้ผู้ชมได้ร่วมสัมผัสความงดงามของศิลปะอีกแขนงหนึ่ง
“เราทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นงานอาร์ต ก็เพื่อที่ในอนาคตเราจะสามารถนำงานศิลปะที่หลายคนอาจจะไม่มีโอกาสได้เดินทางไปดูที่ต่างประเทศ ได้มีโอกาสเห็นงานเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่งานของเรา ซึ่งตรงนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของงานนี้เช่นกัน” นิวบอก
การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นเทศกาลน้องใหม่ย่อมมีความท้าทายเรื่อง ‘ผู้สนับสนุน’ ที่อาจจะยังไม่มั่นใจหรือมองไม่เห็นภาพบรรยากาศของงาน แต่ทีมผู้จัด DIAGE Festival บอกกับเราว่า เทศงานในครั้งนี้ตอบโจทย์ความเป็น ‘New Era (ยุคใหม่)’ ที่ทำให้ผู้สนับสนุนหลายคนตัดสินใจร่วมสนับสนุนงานเทศงานนี้อย่างไม่ลังเล แต่นอกเหนือจากการสนับสนุนของแบรนด์สินค้าต่างๆ สิ่งสำคัญของการจัดงานเทศกาลแบบนี้คือ ‘การสนับสนุนจากภาครัฐ’
“ถ้าดูโมเดลของต่างประเทศ การที่เฟสติวัลหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ มันต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เพราะเมื่อมันประสบความสำเร็จแล้ว มันคือรายได้ของชาติและเราสามารถดึงกลุ่มคนจากต่างประเทศเข้ามาได้ เนื่องจากมันจะถูกปักไว้ในปฏิทินของคนเหล่านี้ ที่เขาจะต้องเดินทางมาทุกปี เพราะฉะนั้นมันจะทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเยอะมาก ถ้าประเทศไทยอยากได้ Soft Power หรืออะไรที่เขาพยายามขับเคลื่อนกัน รัฐก็ต้องเริ่มจากการสนับสนุนกลุ่มของเอกชนที่ทำตรงนี้” พลอยชี้
ทั้งนี้ แนทได้แบ่งปันตัวเลข ‘ผู้เข้าร่วมงาน’ ที่น่าสนใจของการจัด DIAGE Festival ในครั้งนี้ ระบุว่า แม้งานจะจัดขึ้นเป็นปีแรก แต่อัตราของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อตั๋วมาร่วมงานสูงถึง 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจในแง่ของการเผยแพร่ดนตรีและศิลปะที่เป็นผลงานของคนไทยเป็นส่วนใหญ่
“เราอยากให้ทุกภาคส่วนมองว่า งานนี้เป็นโอกาส เพราะมันยังไม่เคยมีงานแบบนี้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ถ้าเราเป็นประเทศแรกที่ทำได้ เราว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคเอกชนเยอะมาก แม้ตอนนี้เราจะยังไม่ยิ่งใหญ่ แต่เราค่อยๆ เติบโตไปได้ และเราก็มีศักยภาพที่จะเติบโตด้วย” พลอยทิ้งท้าย
DIAGE Festival จัดขึ้นในวันที่ 11 และ 12 พฤศจิกายน 2566 ณ SHOW DC HALL โดยมีกิจกรรมและการแสดงภายในงานมากมาย
ติดตามข่าวสารของเทศกาลได้ที่
Facebook: DIAGE Festival
Instagram: diage.festival