Life

วิทยาศาสตร์และความรัก 101: เมื่อความรักเกิดจากสมอง ใช่หัวใจ

ในอดีต หลายคนเชื่อว่า ‘ความรัก’ เกิดมาจากหัวใจ เพราะทุกครั้งที่รู้สึกรัก หัวใจมักเต้นเร็ว และทุกครั้งที่อกหัก หัวใจจะเจ็บปวดมากกว่าส่วนอื่น

แต่ในยุคหลังที่คนเชื่อในวิทยาศาสตร์ ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้ว ความรักเกิดจากสมอง ไม่ใช่หัวใจ เพราะสมองเป็นศูนย์กลางควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการแสดงออก ขณะที่หัวใจมีหน้าที่แค่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายตามคำสั่งของสมองเท่านั้น

เมื่อความรักได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเกิดขึ้นจากที่ใด เราก็เลยอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจกับความรัก ตั้งแต่เริ่มต้นรัก ไปจนถึงอกหัก ในแง่มุมที่อธิบายได้ง่ายๆ ด้วยวิทยาศาสตร์

#1 เริ่มต้นตกหลุมรัก

เมื่อไหร่ที่เห็นหน้าเขาคนนั้นแล้วใจเต้นแรง แก้มแดง หรือเขินจนแทบทรงตัวไม่อยู่ นั่นเรียกว่า ‘ตกหลุมรัก’ ซึ่งเกิดจากการที่สมองไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ผลิต โดปามีน (Dopamine) ออกมา

โดปามีน เป็นสารเคมีสำคัญที่จะหลั่งออกมาหลังจากที่คนรู้สึกพึงพอใจ หรือรักใคร่ชอบพอกับอะไรสักอย่าง อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมน อีพิเนฟริน (Epinephrine) หรือ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ดังนั้น เมื่อหลั่งฮอร์โมนออกมาแล้ว จะทำให้ร่างกายตื่นตัว ตื่นเต้น จนหัวใจและอวัยวะอื่นทำงานผิดปกติ เช่น เขินจนใจเต้นเร็วเวลาเจอคนตรงสเปคในชีวิตจริง หรือเจอไอดอลที่ถูกใจในทีวี

ส่วนอาการตกหลุมรักที่มักจะทำให้คนเผลอทำตัวแปลกโดยไม่รู้ตัว เช่น เผลอยิ้ม หลบตา เสยผม ฯลฯ เกิดจากฮอร์โมน เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมอง และควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนการทำงานของกล้ามเนื้อ

Photo credit: Harvard University

#2 ตกหลุมรักซ้ำๆ กับคนเดิม และช่วงโปร

นอกจากจะทำให้ตกหลุมรักแล้ว โดปามีนและเซโรโทนินยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการหารางวัล และความสุขให้ตัวเอง หรือที่เรียกว่า ‘Reward Circuit’ ซึ่งเป็นสัญชาติญาณในการมีชีวิตอยู่ตามปกติของสิ่งมีชีวิต เพราะเมื่อให้รางวัลตัวเองแล้ว ทั้ง 2 ฮอร์โมนก็จะหลั่งออกมา ทำให้มีความสุข เกิดความคลั่งไคล้ ลุ่มหลง หรือที่เรียกว่าคลั่งรัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อตกหลุมรักไปแล้ว เรามักจะพาตัวเองไปในที่ๆ มีเขาอยู่ พยายามสร้างเรื่อง (ที่ตั้งใจ) บังเอิญเจอ หรือติดตามผลงานของเขาซ้ำๆ เพื่อเติมเต็มความสุขในทุกวัน

อย่างไรก็ตาม โดปามีนมีช่วงการออกฤทธิ์ที่จำกัด ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน ทำให้ช่วงเวลาแห่งความคลั่งรัก หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘ช่วงโปรโมชั่น’ ของแต่ละคู่รักต่างกันไป บางคู่อาจจะแค่ 3-6 เดือน ในขณะที่บางคู่อาจยาวนานเป็นปี

Photo credit: abc news

#3 ผูกพันหลังหมดโปร

แม้ความรักจะเข้าสู่ช่วงหมดโปร แต่ก็ใช่ว่าจะทุกคู่จะต้องหมดรัก และเลิกรากันเสมอไป เพราะการตกหลุมรัก สามารถเปลี่ยนไปเป็นความผูกพัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้งในระยะยาวได้

ความผูกพันเกิดจาก 2 ฮอร์โมนสำคัญ ได้แก่:

1. ออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่หลั่งออกมาระหว่างการสัมผัสใกล้ชิด เช่น จับมือ กอด หอม จูบ และมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งช่วยกระตุ้นความรู้สึกพึงพอใจ และความรู้สึกปลอดภัยให้คนเราได้เป็นอย่างดี สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่า ออกซิโทซินสามารถพบได้ในอวัยวะสืบพันธุ์นั่นเอง

2. วาโซเปรสซิน (Vasopressin) ที่ส่งผลต่ออารมณ์ และความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยการศึกษาในหนูทดลองพบว่า หนูทดลองตัวผู้ที่ได้รับวาโซเปรสซิน มีพฤติกรรมปกป้องตัวเมีย และใช้เวลาอยู่กับตัวเมีย มากกว่ากลุ่มตัวผู้ที่ไม่ได้รับฮอร์โมน

#4 คลั่งรักจนตาบอด

อาการที่ความรักทำให้คนตาบอด ก็สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์เช่นกัน เพราะแม้ว่าฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความรัก จะทำให้คนมีความสุข แต่ถ้ามีมากเกินไป ก็ทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน เช่น โดปามีนและออกซิโทซินที่มากเกินไป อาจทำให้คนวิตกกังวลจนขาดสติในการคิดวิเคราะห์ และเกิดอารมณ์หึงหวง หรือก้าวร้าวแบบไร้เหตุผลได้

Photo credit: UofL Health

#5 อกหักรักพัง

สำหรับความสงสัยที่ว่า ในเมื่อความรักเกิดจากสมอง ทำไมเวลาเลิกราถึงเจ็บจี๊ดที่หัวใจ ไม่ใช่สมอง?

นั่นก็เพราะว่า เมื่ออกหักกับความรัก เราจะเสียใจ เครียด และกังวล ไม่ต่างจากตอนที่ร่างกายเกิดเหตุอันตรายฉุกเฉินอื่นๆ ทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมน คอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีนออกมาโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยกระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ในยามอกหัก ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเหล่านั้นเหมือนตอนเจ็บป่วยฉุกเฉิน เลยมักจะทำให้มีฮอร์โมนในร่างกายมากเกินไป จนหัวใจทำงานหนัก และเกิดความเจ็บปวดได้

ทั้งนี้ อาการอกหักอาจรุนแรงขึ้น จนกลายเป็น ‘ภาวะหัวใจสลาย’ (Broken Heart Syndrome) ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ดังนั้น ถ้าเจ็บหัวใจจนทนไม่ไหว อย่ารอช้าที่จะไปพบแพทย์

Photo credit: Qminder

วิทยาศาสตร์และความรัก 101: เมื่อความรักเกิดจากสมอง ใช่หัวใจ เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งของความรัก ที่ใช้วิทยาศาสตร์อธิบายได้เท่านั้น เพราะกว่าคนเราจะรู้สึกรัก จนถึงหมดรัก ก็มีความซับซ้อนเกิดขึ้นมากมาย

ถ้าคุณสนใจอยากหาอ่านเรื่องราวเหล่านี้เพิ่มเติม นอกจากแหล่งอ้างอิงของเราแล้ว ขอแนะนำ ‘500 ล้านปีของความรัก’ และ ‘IN THEORIES ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี’ หนังสือที่จะทำให้คุณรู้ว่า ความรักที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์นั้นน่าสนใจมากแค่ไหน

อ้างอิง

Northwestern Medicine

Harvard University

คลังความรู้ SciMath

Office of Knowledge Management and Development

Harvard Medical School

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

American Heart Association

Health Matters