ปูเป้ ธัญลักษณ์ กับครึ่งชีวิตที่อยู่กับระบำใต้น้ำ

เป้าหมายสูงสุดของนักกีฬาหลายคน อาจเป็นการคว้าชัยในการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ แต่กับปูเป้ ธัญลักษณ์ พุฒิสิริโรจน์ ผู้ที่รับใช้ชาติในฐานะนักกีฬาระบำใต้น้ำมานานกว่า 16 ปี กลับมองไปถึงสิ่งที่ไกลกว่านั้น นั่นก็คือการทำให้กีฬานี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในไทยและต่างประเทศ 

“ในอนาคตอยากเห็นทุกๆ คลับที่มีสระว่ายน้ำ มีการบรรจุกีฬาระบำใต้น้ำเข้าไป แล้วก็อยากทำหลักสูตรใหม่ขึ้นมาเป็นมาตรฐานใหม่ให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้สโมสรต่าง ๆ มาเรียนรู้ได้ แทนการซื้อหลักสูตรของต่างชาติมาใช้”

เหตุผลง่ายๆ

คำถามแรกที่อยู่ในใจเราเมื่อมีโอกาสได้คุยกันอย่างจริงจังคือ อะไรที่ทำให้อยู่กับกีฬาที่ไม่แมสมาได้นานขนาดนี้ เพราะในมุมมองของเรา ระบำใต้น้ำเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทั้งทักษะว่ายน้ำและยิมนาสติกสูงมาก นักกีฬาต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเหมือนกับฟุตบอลหรือบาสเกตบอลและน้อยคนมากที่จะรู้ว่ามีนักกีฬาทีมชาติประเภทนี้อยู่ด้วย ถ้าเป็นเราคงหมดไฟไปนานแล้ว

"เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะรัก ถึงทำให้อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้ที่ผ่านมาจะเฟดตัวไปลองเล่นกีฬาอย่างอื่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทิ้งกีฬานี้ไปซะทีเดียว แล้วสุดท้ายก็ค้นพบว่านี่แหละคือครึ่งชีวิตของเรา"

เจ้าของรางวัล 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ประเภททีม ซีเกมส์ ปี 2011 และ 1 เหรียญเงิน จากการแข่งขันประเภทบุคคล ที่ประเทศสาธารณรัฐเช็กในปีเดียวกัน บอกกับเราแบบนั้น และยังเล่าต่ออีกว่า ก่อนจะก้าวสู่วิถีนักระบำใต้น้ำ เธอเป็นนักกีฬายิมนาสติกและว่ายน้ำมาก่อน จนเมื่อประมาณปี 1998 ก็ได้เริ่มฝึกซ้อมระบำใต้น้ำควบคู่ไปกับยิมนาสติก พออายุ 14 ปี (ปี 2001) ก็ได้รับคัดเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติระบำใต้น้ำและได้รับความไว้วางใจมาตลอด 16 ปี และในปี 2017 เธอเลือกที่จะลาวงการในฐานะนักกีฬาเมื่ออายุ 30 ปี เพื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็นโค้ชพัฒนาเด็กรุ่นใหม่อย่างเต็มตัว 

ปัจจุบันเธอเป็นหัวหน้าโค้ชอยู่ที่สโมสรระบำใต้น้ำ สิริมงคล มหิดล เป็นผู้คิดค้นหลักสูตร Born to be mermaid ที่โรงเรียนสอนว่ายน้ำ Baby Sprint และมีช่องยูทูป Coach Poupee ระบำใต้น้ำ เป็นของตนเอง

ระบำใต้น้ำก็เหมือนน้ำ

ระบำใต้น้ำ มีเสน่ห์เหมือน “น้ำ” ที่มองแล้วสบายตา เพลิดเพลินใจ แต่ถ้าลงไปอยู่นานๆ ก็ต้องใช้ความพยายามและอดทนมากเหมือนกัน เพราะสิ่งสำคัญของกีฬานี้คือความแข็งแรงและความอึด ต้องว่ายน้ำ กลั้นหายใจ ไปพร้อมกับแสดงท่าทางยิมนาสติกไปจนจบเพลงที่ค่อนข้างยาว ร่างกายต้องดีมากๆ เธอเล่าว่ามีครั้งหนึ่งโค้ชชาวจีนเคยให้ฝึกกลั้นหายใจด้วยท่า Vertical (ลำตัวส่วนบนจมอยู่ในน้ำ ลำตัวตรง ขาชี้ฟ้า) ครั้งละ 40 วินาที ติดกันหลายๆ เซ็ท เหนื่อยมาก โหดมาก แต่ก็ทำให้เธอกลั้นหายใจอยู่ใต้น้ำได้นาน

กว่าจะมาถึงวันนี้

16 ปีกับการเป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำทีมชาติ ก็ว่านานจนทึ่งแล้ว แต่ที่ทึ่งกว่าคือระหว่างที่เธอแอบเฟดตัวไปเล่นกีฬาอื่น เธอก็ไปคว้ามาอีก 2 ทีมชาติด้วยกัน ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าความอดทนพยายามให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ

"จริงๆ มันคือจังหวะและโอกาสมากกว่า เพราะเราออกกำลังกายอยู่เสมอ ร่างกายแข็งแรง ก็เลยได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ค่อนข้างหลากหลาย”  

“หลังจากติดทีมชาติกีฬาระบำใต้น้ำแล้ว ช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัยก็มีอุปสรรคเกิดขึ้น ตอนนั้นกำลังจะได้รับคัดเลือกไปแข่งขันระบำใต้น้ำรอบคัดเลือก มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศอังกฤษ แต่ไม่ได้ตั๋วเดินทาง ประกอบกับเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีรายการแข่งขันเท่าไหร่ โค้ชชาวต่างชาติเลยแนะนำให้รู้จักกับกีฬายิมนาสติกแอโรบิก ที่กำลังเปิดคัดเลือกนักกีฬา เราก็ไปสมัครและติดทีมชาติในตำแหน่งตัวสำรอง ได้ไปเก็บตัวที่ประเทศออสเตรีย” 

“เป็นช่วงปี 2007 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยโลกพอดี และเป็นโอกาสให้เราได้ไปคัดตัวและติดทีมชาติยิมนาสติกลีลาประเภททีมด้วย เป็นตัวแทนไปแข่งขัน หลังแข่งจบ ก็พักเรื่องแข่งกีฬาไปจนเรียนจบปริญญาตรี

“จนเรียนจบก็ได้มีโอกาสกลับไปคัดเลือกเป็นนักกีฬายิมนาสติกแอโรบิกทีมชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคราวนี้ได้เป็นตัวจริงเลย ได้ไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่อเมริกาและอีกหลายรายการนานาชาติ รวมถึงรายการระดับอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็คว้าเหรียญทองมา จำได้ว่าตอนนั้นแข่งทั้งแบบ Mixed Pair และ Trio ก็สามารถเอาชนะทีมชายล้วนมาได้” 

“พอเลิกตรงนั้นไป ราวๆ ปี 2010 สมาคมระบำใต้น้ำก็เรียกตัวกลับไปฟอร์มทีมแข่งขันอีกครั้ง หนึ่ง เพื่อไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กวางโจว ส่วนปีถัดไปก็ไปซีเกมส์ 2011 ซีเกมส์ 2015 แล้วก็ลาวงการ ใน ปี 2017 ตอนอายุ 30 ปีพอดี แต่ช่วงที่เราเฟดไปเล่นกีฬาอื่น ก็ไม่ได้ทิ้งระบำใต้น้ำนะ ยังคงได้ชื่อว่าทีมชาติ มาตั้งแต่ 2001 - 2017 รวมแล้ว 16 ปีพอดีค่ะ”

เป้าหมายที่ตั้งไว้

ปูเป้ยอมรับว่าสรีระรูปร่างของนักกีฬาระบำใต้น้ำของไทยยังตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับนักกีฬารัสเซียและจีน ทำให้มาตรฐานนักกีฬาของเรายังไม่เท่าเขา แต่เธอเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้ว เธอเลยกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ ทั้งเป็นโค้ชและคิดค้นหลักสูตรใหม่ขึ้นมาช่วยให้เด็กสนุกกับการเล่นกีฬา พร้อมให้คำแนะนำด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการและสรีระที่เติบโตอย่างเหมาะสม เช่น การทานอาหาร โภชนาการ ออกกำลังกาย เป็นต้น

“ถึงระบำใต้น้ำจะเป็นกลุ่มตลาดเฉพาะแต่หลายสิบปีที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ายังมีคนที่สนใจอยู่จริงๆ พี่ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้วนะ ทั้งในแง่ของการเป็นนักกีฬาและโค้ช เพราะเราสามารถส่งต่อความสุขให้ผู้อื่น และสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ อย่างเมื่อปี 2019 พี่ก็ลองพาเด็กๆ ในสโมสร รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ไปแข่งขันรายการ 14th Singapore open Artistic Swimming Championships 2019 ก็ได้เหรียญเงิน กลับมา ทั้งในประเภทเดี่ยว คู่ และทีม”

"จุดมุ่งหมายของแต่ละคนต่างกันไป แน่นอนว่านักกีฬาทุกคนหวังเหรียญทอง แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อคุณได้เหรียญทองแล้วคุณจะไปต่อได้แค่ไหน อย่างพี่เลือกที่จะไม่หยุดเรียนรู้และเดินหน้าต่อยอดไปเป็นโค้ช เพื่ออยู่พัฒนาวงการระบำใต้น้ำต่อไป”